Sort by
Sort by

ลดหวานเพื่อสุขภาพดี

ลดหวานเพื่อสุขภาพดี

ธรรมชาติของมนุษย์เราชอบกินหวาน แต่การกินรสชาติหวานที่มากเกินไปและอย่างต่อเนื่อง ก็ทำให้ติดหวานได้ พบว่า สมองของคนที่กินหวานจนชิน จะมีการตอบสนองต่อน้ำตาลด้วยการหลั่งสารชนิดหนึ่งออกมา ทำให้เกิดความพึงพอใจและความอยากกินหวาน ซึ่งเรียกภาวะนี้ว่า ภาวะการพึ่งพาน้ำตาล (sugar dependency) หรืออาจเรียกว่าเป็นการ "ติดรสหวาน" นั่นเอง  การกินหวานมากๆ เป็นสาเหตุทำให้เกิดโรคอ้วน ฟันผุ และเสี่ยงต่อโรคเบาหวาน ความดันโลหิตสูง มะเร็ง อัมพาต และโรคหัวใจขาดเลือดได้ จากข้อมูลสำนักงานสถิติแห่งชาติปี 2552 อัตราการบริโภคน้ำตาลเพิ่มสูงขึ้นเกือบ 3 เท่าจาก 12.7 กิโลกรัมต่อคนต่อปี ใน พ.ศ.2526 เป็น 36.4 กิโลกรัมต่อคนต่อปี ใน พ.ศ. 2550 หรือเฉลี่ยวันละ 25 ช้อนชาต่อคน ซึ่งกรมอนามัย กระทรวงสาธารณสุขแนะนำว่าไม่ควรกินน้ำตาลเกิน 6 ช้อนชาต่อวัน และเมื่อวันที่ 6 มี.ค. 2557 องค์การอนามัยโลกออกคำแนะนำให้ประชาชนลดการบริโภคน้ำตาลลงครึ่ง หนึ่งเพื่อลดความเสี่ยงเรื่องโรคอ้วน โดยเน้นว่าควรลดให้ได้เหลือเพียงวันละ 5% จะดีที่สุด ซึ่งเทียบเท่ากับ 6 ช้อนชา นั่นเอง

หลากหลายวิธีลดหวาน
1. เลือกดื่มน้ำเปล่าแทนน้ำหวาน หรือจะเป็นเครื่องดื่มชาหรือสมุนไพรที่ไม่เติมน้ำตาล
2. รับประทานผลไม้สดที่ไม่หวานจัดแทนขนมหวาน เช่น แอปเปิล ฝรั่ง แก้วมังกร เป็นต้น
3. หลีกเลี่ยงหรือลดปริมาณการเติมนํ้าตาลลงในอาหารและเครื่องดื่มทีละน้อย เพื่อ ให้เวลาร่างกายในการปรับตัว ร่างกายเราจะใช้เวลาประมาณ 10 วันในการปรับสภาพลิ้นที่ติดรสชาติอาหาร หวาน ในช่วงแรกอาจทำให้รู้สึกว่าอาหารหรือเครื่องดื่มขาดรสหวานและรสชาติไม่อร่อยเหมือนเดิม แต่หากให้เวลาสักพักร่างกายจะสามารถปรับและลิ้นจะเคยชินกับรสชาติอาหารที่ไม่ หวาน และต่อไปก็จะต้องการน้ำตาลลดลง
4. ชิมรสชาติอาหารก่อนปรุงทุกครั้งเพื่อลดการเติมน้ำตาลเพิ่ม และหากสั่งอาหารก็ควรเน้นว่าไม่หวาน หรือหวานน้อย
5. อ่านฉลากโภชนาการ เพื่อดูปริมาณน้ำตาลที่ข้างกล่องว่า มีมากน้อยแค่ไหน หากอยากรู้ว่ามีกี่ช้อนชา ก็ให้นำปริมาณน้ำตาลเป็นกรัมมาหารด้วย 4 ผลที่ได้คือปริมาณน้ำตาลในหน่วยช้อนชา นั่นเอง
6. เก็บของหวานให้ไกลตัวที่สุด หรือถ้าเป็นไปได้ก็อย่าให้มีอยู่ในบ้าน บนโต๊ะทำงาน หรือในกระเป๋าเลย
7. เลือกทานผลไม้สดแทนน้ำผลไม้ เพราะน้ำผลไม้อาจมีการเติมน้ำตาลเพิ่มและมีใยอาหารน้อยกว่าที่พบในผลไม้สด
8.หากยังชื่นชอบเครื่องดื่มรสหวาน ให้เลือกเครื่องดื่มที่มีน้ำตาลน้อยกว่า หรือผลิตภัณฑ์ที่ใช้สารให้ความหวานแทนน้ำตาล
9. ลดหรือหลีกเลี่ยงนมเปรี้ยวพร้อมดื่ม เนื่องจากมักมีการเติมน้ำตาลปริมาณสูงเพื่อให้มีรสเปรี้ยวหวาน อร่อย หรือเลือกสูตรที่มีน้ำตาลน้อยกว่า โดยสังเกตจากฉลากโภชนาการ 
10. จำกัดปริมาณ ขนมหวาน ไอศกรีม ขนมเค้กหรือเลือกขนาดที่เล็กลง ไม่ให้ลูกกินลูกอม ลูกกวาด บ่อยจนกลายเป็นนิสัยติดหวาน และไม่ควรให้รางวัลเด็กหรือฉลองเทศกาลต่างๆ ด้วยอาหารที่มีน้ำตาลสูง