Sort by
Sort by

พร้อมรับมือเมื่อลูกเป็นไข้หวัด

พร้อมรับมือเมื่อลูกเป็นไข้หวัด
เมื่อเด็กเป็นหวัดย่อมต้องการการดูแลที่พิเศษกว่าปกติ เพราะเป็นวัยที่ภูมิคุ้มกันยังไม่แข็งแรงเท่าวัยผู้ใหญ่ จึงอาจทำให้หายยากกว่า หรือมีอาการอื่นๆ แทรกซ้อนได้ง่ายหากดูแลไม่ถูกวิธี คุณพ่อคุณแม่ต้องพิถีพิถันทั้งในเรื่องการดูแลอาการ และเรื่องอาหารการกิน เพื่อส่งเสริมให้ร่างกายของลูกสามารถต่อสู้กับไข้หวัดและกลับมาเป็นปกติโดยเร็ว

สิ่งที่เรามักเข้าใจผิดเกี่ยวกับโรคหวัดคือ โรคหวัดสามารถรักษาได้ แต่ความจริงแล้วโรคหวัดเกิดจากไวรัสซึ่งมีนับร้อย ๆ ชนิด และไม่มียาปฏิชีวนะฆ่าเชื้อไวรัส ยาที่เราทานกันเป็นเพียงการบรรเทาอาการเท่านั้น แต่เมื่อเด็กเล็กเป็นหวัดที่เกิดจากเชื้อไวรัสชนิดใดชนิดหนึ่งแล้ว ร่างกายก็จะมีภูมิต้านทานต่อต้านไวรัสเฉพาะชนิดนั้นเอง เช่น ถ้าเป็นหวัดที่เกิดจากไวรัสชนิดเอแล้วมีภูมิต่อชนิดเอ แต่การเป็นหวัดครั้งต่อไปก็จะเกิดจากชนิดอื่นๆ ได้อีก ดังนั้น เด็กๆ จึงเป็นหวัดได้ง่าย แต่ก็จะลดความถี่ลงเมื่อร่างกายสามารถสร้างภูมิคุ้มกันได้มากขึ้น

กันไว้ก่อน
เชื้อไวรัสจากโรคหวัดเป็นเชื้อที่แพร่ง่าย แค่ไอจาม หรือใช้ของร่วมกัน เชื้อก็สามารถแพร่ถึงกันได้ ดังนั้น หากไม่อยากเผชิญกับโรคนี้ แนะนำว่าหากทราบว่ามีเพื่อนในห้องเรียนเดียวกันเป็นหวัด หรือเป็นช่วงที่ไข้หวัดระบาด อาจต้องมีการ้องกันด้วยผ้าปิดปาก ปิดจมูก หรือถ้าหลีกเลี่ยงได้ก็อาจให้หยุดอยู่บ้านชั่วคราว นอกจากนี้ไม่ควรพาลูกไปยังที่อึดอัดหรือมีคนเยอะๆ โดยเฉพาะในที่สาธารณะที่มีคนป่วยอยู่ร่วมกัน เช่น โรงพยาบาล ในช่วงฤดูฝนและฤดูหนาวที่คนเป็นหวัดกันมาก และควรดูแลทำความสะอาดบ้านให้ปลอดจากเชื้อโรค สิ่งสำคัญที่สุดคือ คุณพ่อคุณแม่ต้องทำตัวเองให้แข็งแรงเข้าไว้ จะได้ไม่ติดเชื้อไวรัสง่ายๆ และเมื่อรู้ตัวว่าตัวเองไม่สบายให้อยู่ห่างจากลูกให้มากที่สุด หรือหาผ้ามาปิดจมูกไว้ และอาจสลับให้อีกคนมาดูแลลูกจะดีกว่า สำหรับการป้องกันที่ตัวเด็กเอง ควรสร้างนิสัยการล้างมือด้วยสบู่และน้ำสะอาด การใช้ช้อนกลาง เพื่อหลีกเลี่ยงการได้รับเชื้อโรคจากผู้อื่น และควรเพิ่มภูมิคุ้มกันให้ลูกน้อยด้วยอาหารที่มีวิตามินซี เช่น ฝรั่ง ส้ม สตรอเบอร์รี ผักใบเขียว เป็นต้น

ดูแลเมื่อเป็นหวัด
หากลูกโดยเฉพาะเด็กเล็กเริ่มมีอาการตัวร้อน ซึม ไม่อยากอาหารให้รีบพาไปหาหมอทันที โดยการรักษาจะเน้นให้พักผ่อนให้เพียงพอรับประทานอาหารที่มีประโยชน์ เพื่อช่วยเสริมภูมิต้านทานโรค และดื่มน้ำมาก ๆ อาการจะดีขึ้นและหายจากโรคได้เอง แต่เนื่องจากการเป็นไข้หวัดมักเกิดอาการต่าง ๆ ร่วมด้วย อาทิ น้ำมูกไหล คันคอ ไอ จาม คัดจมูก ครั่นเนื้อครั่นตัว มีไข้ ปวดเมื่อย ฯลฯ ดังนั้น แพทย์อาจมีการใช้ยาเพื่อรักษาหรือบรรเทาอาการดังกล่าว ปกติโรคหวัดจะหายภายใน 3-5 วัน หากดูแลอย่างถูกต้อง แต่ทั้งนี้ต้องหมั่นสังเกตอาการ เพื่อป้องกันอาการแทรกซ้อนอื่นๆ ตั้งแต่เบื้องต้นด้วย
  • ถ้ามีการถ่ายอุจจาระเหลวเป็นน้ำ หรือถ่ายถี่กว่าปกติอาจจะมีโรคท้องเสียแทรกซ้อนได้ วิธีดูแลง่ายๆ คือ ให้อาหารอ่อนๆ ย่อยง่าย รสไม่จัด หรือผสมนมให้จางลง เพื่อช่วยให้ร่างกายย่อยนมได้ง่ายขึ้น แต่ถ้ายังไม่หายอาจชงผงเกลือแร่กับน้ำอุ่น แล้วรีบพาไปพบแพทย์
  • อาการหายใจไม่สะดวก อาจหยดยาดมลงบนผ้าเช็ดหน้าแล้ววางไว้ใกล้ๆ หมอนเพื่อช่วยบรรเทาและถ้ามีน้ำมูก หายใจไม่สะดวกให้ใช้ลูกยางดูดเอาน้ำมูกออกบ่อย ๆถ้าตัวร้อน ให้ใช้ผ้าชุบน้ำเช็ดตัวตามข้อพับต่างๆ เพื่อลดอุณหภูมิของร่างกาย (ควรใช้น้ำอุ่นหรือน้ำก๊อกธรรมดา อย่าใช้น้ำเย็นจัด หรือน้ำแข็ง)
  • ดื่มน้ำมากๆ เพื่อลดอุณหภูมิของร่างกาย และขับปัสสาววะ ถ้ามีเสมหะเหนียวต้องให้ดื่มน้ำอุ่นๆ อาจผสมน้ำมะนาวเล็กน้อยเพื่อให้ชุ่มคอ
  • ให้อาหารที่มีประโยชน์ ควรเป็นอาหารอ่อน เพื่อช่วยให้ร่างกายย่อยและดูดซึมสารอาหารไปใช้ได้เร็วขึ้น เช่น นมอุ่นๆ โจ๊กที่ไม่ข้นมาก ข้าวต้มใส่เนื้อสัตว์บดละเอียด หรืออาหารเสริมจากธัญพืช ที่มีเนื้ออาหารเนียนนุ่ม สามารถย่อยและดูดซึมสู่ร่างกายได้ง่าย
สุดท้ายอย่าลืมช่วงที่ลูกไม่สบาย พ่อแม่ต้องดูแลอย่างใกล้ชิดโดยเฉพาะเด็กเล็ก เพราะเขาจะงอแง หงุดหงิดง่าย ต้องคอยเล่นและปลอบโยนเขาอยู่ใกล้ๆ ตลอด เพื่อจะได้หายป่วยเร็วขึ้น และกลับมาเป็นครอบครัวสุขสันต์อีกครั้ง