Sort by
Sort by

บอกลาโคเลสเตอรอล

บอกลาโคเลสเตอรอล

โคเลสเตอรอลเป็นสารประกอบไขมันที่มีความสำคัญ ร่างกายใช้เป็นสารตั้งต้นในการสังเคราะห์น้ำดี ฮอร์โมนเพศ ฮอร์โมนจากต่อมหมวกไต และยังเป็นองค์ประกอบของเยื่อหุ้มเซลล์และปลอกประสาท แต่ถ้ามีมากเกินไปจะไปเกาะอยู่ตามผนังหลอดเลือดแดง และพอกพูนหนาขึ้นจนโพรงหลอดเลือดแดงแคบลง เกิดการตีบตันจนเลือดเดินทางไปเลี้ยงอวัยวะที่สำคัญๆ ไม่พอเพียง ทำให้เกิดหัวใจขาดเลือด หรืออัมพฤกษ์ อัมพาตจากเลือดไปเลี้ยงสมองไม่พอ หากอยากรู้ว่ามีโคเลสเตอรอลสูงหรือไม่ ต้องเจาะเลือดตรวจ โดยควรมีโคเลสเตอรอลรวมน้อยกว่า 200 มิลลิกรัมต่อเดซิลิตร

ร่างกายสามารถผลิตโคเลสเตอรอลได้เองโดยอาศัยเอนไซม์ที่ตับ อีกส่วนหนึ่งได้รับจากอาหาร ถ้าร่างกายได้รับโคเลสเตอรอลมากเกินไป จะทำให้เกิดภาวะโคเลสเตอรอลในเลือดสูง และมีโอกาสเสี่ยงต่อการเกิดโรคหัวใจขาดเลือด มีการศึกษาพบว่าการลดโคเลสเตอรอลในเลือดลง 1% ก็ช่วยลดความเสี่ยงโรคหัวใจลงได้ประมาณ 2% ดังนั้น อย่ารอช้า เรามาเรียนรู้วิธีป้องกันและรับมือกับภาวะโคเลสเตอรอลในเลือดสูงกันค่ะ

  1. หลีกเลี่ยงอาหารที่มีโคเลสเตอรอลสูง และลดการบริโภคอาหารที่มีไขมันสูง โดยเฉพาะอย่างยิ่งไขมันชนิดอิ่มตัวซึ่งเป็นสารตั้งต้นของการสร้างโคเลสเตอรอลในร่างกาย โคเลสเตอรอลจะมีเฉพาะในอาหารที่มาจากสัตว์เท่านั้น อาหารที่มีโคเลสเตอรอลสูง เช่น ไข่แดง ไข่นกกระทา ไข่ปลา กุ้ง ปลาหมึก ปู ตับสัตว์ เครื่องในสัตว์ น้ำมันหมู หอยนางรม เนย
  2. กินข้าวกล้อง ธัญพืชขัดสีน้อย ซีเรียลโฮลเกรน และเพิ่มอาหารพวกผักใบต่างๆ และผลไม้ที่ให้ใยอาหารมาก เช่น   คะน้า ผักกาด ฝรั่ง ส้ม เม็ดแมงลัก เป็นต้น ใยอาหารเหล่านี้ช่วยลดการดูดซึมโคเลสเตอรอลเข้าสู่ร่างกายได้
  3. เลือกกินอาหารประเภทต้ม นึ่ง ยำ ย่าง อบ มากกว่า อาหารทอดหรือผัดน้ำมัน
  4. น้ำมันที่ใช้ควรเป็นน้ำมันพืชที่มีกรดไขมันไม่อิ่มตัวสูง เพราะไม่ทำให้โคเลสเตอรอลสูงขึ้น เช่น น้ำมันรำข้าว น้ำมันถั่วเหลือง น้ำมันข้าวโพด น้ำมันเมล็ดดอกทานตะวัน น้ำมันงา น้ำมันมะกอก เป็นต้น
  5. หากดื่มกาแฟใส่ครีมเทียม ให้เลือกใช้ครีมเทียม ที่ทำมาจากไขมันพืช ไม่มีโคเลสเตอรอล และผ่านกระบวนการผลิตที่มีคุณภาพจึงไม่มีไขมันทรานส์ (trans fatty acid)
  6. หลีกเลี่ยงอาหาร เบเกอรีที่ใช้เนยขาวหรือเนยเทียมเป็นส่วนประกอบจำนวนมาก ทั้งนี้ เพราะไขมันที่อยู่ในเนยเหล่านี้เป็นไขมันที่เรียกว่า กรดไขมันชนิดทรานส์ (trans fatty acid) ที่ทำให้โคเลสเตอรอลในเลือดสูงขึ้น และพบว่ามีผลเสียต่อสุขภาพมากยิ่งกว่ากรดไขมันชนิดอิ่มตัวเสียอีก
  7. ควรกินเนื้อปลามากกว่าเนื้อสัตว์ชนิดอื่น สลับกับโปรตีนจากพืช เช่น เต้าหู้ ผลิตภัณฑ์จากถั่วเหลือง
  8. คนที่ดื่มนมควรดื่มนมพร่องมันเนยแทนนมสดที่มีไขมันเต็ม
  9. อ่านฉลากโภชนาการ เพื่อเลือกผลิตภัณฑ์ที่มีไขมันทั้งหมดและไขมันอิ่มตัวต่ำ และไม่มีโคเลสเตอรอล
  10. ออกกำลังกายเป็นประจำครั้งละ ๒๐-๓๐ นาที สัปดาห์ละ ๓-๔ ครั้ง เพราะนอกจากช่วยเผาผลาญไขมันแล้ว ยังช่วยทำให้โคเลสเตอรอลชนิดดีหรือเอชดีแอล เพิ่มขึ้นได้
  11. งดสูบบุหรี่และดื่มเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ จะช่วยเพิ่มโคเลสเตอรอลชนิดดีหรือเอชดีแอล
  12. สำหรับคนที่มีน้ำหนักตัวเกินหรืออ้วน การลดน้ำหนักลงบ้างจะทำให้การควบคุมโคเลสเตอรอลดีขึ้น