Sort by
Sort by

นอน เรื่องสำคัญของเจ้าตัวเล็ก

นอน เรื่องสำคัญของเจ้าตัวเล็ก

การนอนหลับพักผ่อนอย่างเพียงพอสำคัญต่อสมองที่กำลังพัฒนาและการเจริญเติบโตของลูก เพราะขณะที่ลูกน้อยนอนหลับสนิท สมองจะหลั่ง Growth Hormone ฮอร์โมนที่ช่วยเรื่องการเจริญเติบโตออกมา รวมถึงการสร้างโครงข่ายเส้นใยประสาท เพราะสมองของเราจะมีระบบการจัดการเรื่องความจำในช่วงที่เรานอนหลับสนิท ดังนั้นถ้าลูกได้หลับพักผ่อนอย่างเต็มที่ ก็จะมีการเจริญเติบโตที่ดี อารมณ์ดี และเรียนรู้ได้ดี

ลูกน้อยควรนอนวันละกี่ชั่วโมง

อายุ จำนวนชั่วโมงที่ควรนอนทั้งวัน
0-3 เดือน 17-18 ชั่วโมง ช่วงเดือนแรกมักนอนกลางวันมากกว่ากลางคืน และมีเวลาตื่นที่ไม่แน่นอน เพราะอยู่ในช่วงของการปรับตัว กับสิ่งแวดล้อมใหม่นอกท้องคุณแม่
3-11 เดือน 14-15 ชั่วโมง (+นอนกลางวัน) เมื่ออายุ 6-9 เดือน เด็กบางคนจะไม่ตื่นมาดูดนมตอนกลางคืน จะหลับรวดเดียวจนถึงเช้า ไม่ต้องกลัวว่าลูกจะหิว เพราะหากลูกหลับยาวแสดงว่าได้กินนมเต็มที่แล้ว วัยนี้จะนอน 9-12 ชั่วโมงในเวลากลางคืน และงีบหลับช่วงสั้นๆ ประมาณครั้งละ 30 นาที ถึง 2 ชั่วโมง วันละ 1-4 ครั้งในเวลากลางวัน
1-3 ขวบ 12-14 ชั่วโมง (+นอนกลางวัน) หลีกเลี่ยงการให้ลูกนอนกลางวันในช่วงเย็นหรือหัวค่ำ เพราะจะทำให้ไม่ง่วงและยิ่งทำให้นอนดึก

เด็กแต่ละคนมีรูปแบบการนอนหลับไม่เหมือนกัน ชั่วโมงและระยะเวลาการนอนหลับก็แตกต่างกันไป เด็กบางคนนอนน้อยตื่นบ่อย ซึ่งถ้าลูกยังร่าเริง ดื่มนมได้ตามปกติ น้ำหนักตัวขึ้นตามเกณฑ์ คุณแม่ก็ไม่ต้องกังวล ลูกจะค่อยๆ ปรับตัวนอนได้นานขึ้นเองในไม่ช้า

เทคนิคพาลูกเข้านอน

  1. พาลูกเข้านอนเมื่อลูกรู้สึกง่วง และให้ลูกนอนบนเตียงก่อนที่ลูกจะหลับ เพื่อให้ลูกคุ้นเคยกับที่นอน และฝึกลูกให้หลับได้ด้วยตนเอง โดยไม่ต้องอุ้ม ซึ่งโดยปกติเราจะสามารถสังเกตได้ว่าเวลาลูกง่วงนอนมากๆ ก็มักจะเล่นน้อยลง ไม่สนใจสิ่งแวดล้อม ตาปรือ หรืออาจดูตาลอย เอามือขยี้ตา หาว หงุดหงิด และร้องกวน ก็ควรถึงเวลาพาลูกเข้านอน
  2. พยายามฝึกให้ลูกนอนเป็นเวลาทั้งกลางวันและกลางคืน
  3. ควรทำให้เวลานอนเป็นเวลาที่เด็กรู้สึกสงบ มีความสุข และรู้สึกอบอุ่น ปลอดภัย ไม่มีการเล่นตื่นเต้นช่วงก่อนนอน เพราะจะทำให้ลูกตื่นตัว หลับยาก หลับไม่สนิทหรือนอนละเมอได้
  4. ควรจัดสภาพแวดล้อมในห้องนอนให้เหมาะสมกับการนอน เช่น ไฟสลัว เงียบสงบ ไม่มีเสียงดัง
  5. ก่อนนอนทุกคืน ควรมีกิจวัตรประจำที่ทำให้เด็กรับรู้ได้ว่าถึงเวลานอน เช่น ดื่มนม เล่านิทาน เปิดเพลงเบาๆ เข้าห้องน้ำ สวดมนต์ เป็นต้น
  6. อาจให้ลูกมีตุ๊กตา หรือผ้าห่มติดตัวเวลานอนเพื่อให้รู้สึกอบอุ่น ปลอดภัย และไม่กลัว

อีกสิ่งหนึ่งที่อาจส่งผลกระทบต่อการนอนในเด็กเล็กๆ ได้ ก็คืออาหารเสริม ในเด็กวัยก่อน 6 เดือน อย่าเพิ่งเริ่มให้อาหารเสริม เพราะลูกยังมีพัฒนาการของน้ำย่อยไม่สมบูรณ์ ถ้าเริ่มอาหารเสริมเร็วเกินไปจะทำให้ย่อยยาก ท้องอืด และส่งผลต่อการนอนได้ และเมื่อถึงวัยอาหารเสริม ก็ควรเลือกอาหารเสริมธัญพืชที่ผ่านขบวนการย่อยให้มีขนาดโมเลกุลเล็กลง ทำให้ย่อยง่าย ไม่มีปัญหาท้องอืด จึงช่วยให้เด็กนอนหลับสบาย