Sort by
Sort by

ทำอาหารกินเอง แข็งแรงทั้งบ้าน

ทำอาหารกินเอง แข็งแรงทั้งบ้าน

ด้วยวิถีชีวิตที่เปลี่ยนแปลงไป ทำให้คนส่วนใหญ่เลือกกินอาหารนอกบ้าน เพราะความง่าย สะดวก โดยลืมนึกถึงคุณค่าทางโภชนาการ ลืมนึกไปว่าอาหารแต่ละอย่างนั้นผ่านการผลิตมาอย่างไร ล้างสะอาดหรือไม่ รสชาติหวานไป มันไป หรือเค็มไปก็ต้องยอมกิน บางคนโปรดปรานเมนูทอด ซึ่งสิ่งที่คุณได้รับไม่ใช่แค่แคลอรีจากน้ำมันและแป้งเท่านั้น แต่คุณอาจจะได้รับโทษจากน้ำมันทอดซ้ำอีกด้วย ลองคิดดูว่าถ้าเรากินอาหารนอกบ้านทุกวัน เราจะได้รับสารพิษจากผักที่ไม่สะอาด น้ำมันเก่า ผงชูรส สารกันบูด มากแค่ไหน ดังนั้นเพื่อสุขภาพที่ดีลองจำกัดมื้ออาหารนอกบ้านลงและทำอาหารกินเองดีที่สุด เพราะเราสามารถควบคุมคุณภาพของอาหารเองได้

คำแนะนำเมื่อทำอาหารกินเอง

  • หลีกเลี่ยงอาหารเช่น ข้าวหรือธัญพืชที่ผ่านการขัดขาว ซึ่งเป็นกรรมวิธีที่เอาส่วนประกอบดั้งเดิมตามธรรมชาติที่เต็มไปด้วยสารอาหารออกหมด เหลือไว้แต่ความสวยงามน่ากิน แต่ทำให้คุณค่าอาหารน้อยลง ฉะนั้นลองหันมากินข้าวกล้อง ขนมปังโฮลวีทหรือซีเรียลโฮลเกรน ที่ยังคงมีคุณค่าสารอาหาร เช่น วิตามินแร่ธาตุต่างๆ รวมถึงใยอาหารอยู่กันเถอะค่ะ
  • เลือกใช้เนื้อสัตว์ไม่ติดมัน เช่น เนื้อไก่ไม่ติดหนัง อกไก่ ปลา หมูเนื้อแดง และหลีกเลี่ยงหมูสามชั้น หมูสับที่ปนมันมากๆ เพื่อลดแคลอรีส่วนเกิน หลีกเลี่ยงอาหารเนื้อสัตว์แปรรูปอย่างหมูยอ ไส้กรอก แฮม เพราะมีไขมันและโซเดียมสูง
  • กินปลา 2-3 ครั้งต่อสัปดาห์ ปลาเป็นโปรตีนที่ย่อยง่ายและมีคุณค่าเหมาะสำหรับคนทุกเพศทุกวัย เพื่อความสะดวกอาจเลือกซื้อปลาในร้านที่มีบริการแล่และทำความสะอาดเรียบร้อยพร้อมปรุง ก็จะช่วยทุ่นเวลาในการทำอาหาร
  • เพิ่มคุณค่าทางโภชนาการให้อาหาร เช่น เติมพริกหวานและใบโหระพาในไข่เจียว เติมผักหลากสีในผัดผัก
  • เลือกซื้อซอสปรุงอาหารที่ใช้วิธีหมักด้วยวิธีธรรมชาติ ซึ่งจะไม่มีสารเคมีตกค้างที่จะทำให้เสี่ยงเป็นมะเร็ง
  • เติมเครื่องปรุงแต่พอดี ไม่ให้เค็มจัด หรือหวานจัดจนเกินไป
  • การประกอบอาหารประเภทผัด ใช้น้ำมันพืชที่มีกรดไขมันไม่อิ่มตัวสูง เช่น น้ำมันถั่วเหลือง น้ำมันรำข้าว น้ำมันข้าวโพด น้ำมันเมล็ดทานตะวัน
  • การประกอบอาหารประเภททอด ใช้น้ำมันที่มีกรดไขมันอิ่มตัวสูง เช่น น้ำมันปาล์ม เพราะอาหารจะกรอบอร่อย ไม่เหม็นหืนง่าย แต่ไม่ควรใช้ความร้อนสูงเกินไปเพราะจะทำให้เกิดอนุมูลอิสระ เสี่ยงต่อการเกิดโรคมะเร็งและโรคหัวใจ
  • ไม่ควรใช้น้ำมันทอดซ้ำหลายครั้ง เพราะเมื่อน้ำมันถูกความร้อนสูงนานๆ จะเกิดการแตกตัวให้สารโพลาร์ที่เป็นอันตรายต่อร่างกาย
  • ลด ละ เลี่ยง การประกอบอาหารประเภทแกงกะทิ เปลี่ยนเป็นแกงเลียง แกงส้ม ต้มยำน้ำใส หรือต้มจืด
  • เลือกใช้น้ำมะนาวเพื่อให้ความเปรี้ยวแทนการใช้น้ำมะนาวเทียมหรือน้ำส้มสายชู สำหรับเมนูยำทั้งหลาย
  • เลือกซื้อผักผลไม้ตามฤดูกาล เช่น ฤดูร้อน เลือกผักกวางตุ้ง แตงกวา ชะอม ผักบุ้ง ฤดูฝน เลือกตำลึง หน่อไม้ ถั่วฝักยาว ฟักทอง ฤดูหนาว เลือกกะหล่ำดอก บร็อคโคลี มะเขือเทศ นอกจากจะมีราคาถูกแล้วยังหลีกเลี่ยงสารพิษตกค้างได้ หรือจะเลือกกินผักพื้นบ้านก็ยิ่งดี เพราะไม่ค่อยมีโรคและแมลงรบกวน จึงไม่ต้องใช้ยาฆ่าแมลง
  • ควรรับประทานทันทีที่ทำเสร็จ จะช่วยให้ร่างกายได้รับสารอาหารอย่างเต็มที่ เนื่องจากวิตามินบางชนิดสูญเสียได้ง่าย และยังมีรสชาติอร่อยมากกว่าอาหารที่ปรุงไว้นานๆ แล้วนำมาอุ่นซ้ำ

นอกจากการทำอาหารกินเองจะช่วยให้มีสุขภาพดีแล้ว ยังช่วยกระชับความสัมพันธ์ที่ดีในครอบครัวอีกด้วย ถ้างั้นเริ่มที่มื้อเย็นนี้เลยดีมั้ยคะ