Sort by
Sort by

ทวงคืนอายุร่างกายให้วัยทอง

ทวงคืนอายุร่างกายให้วัยทอง

วัยทอง เป็นวัยที่มีการเปลี่ยนแปลงของฮอร์โมน และมีอัตราการเผาผลาญที่ลดต่ำลง ทำให้อ้วนได้ง่ายขึ้น ทั้งๆ ที่กินอาหารและมีไลฟ์สไตล์เหมือนเดิม จึงควรเลือกกินอาหารและปรับไลฟ์สไตล์ให้เหมาะสมเพื่อช่วยชะลอความเสื่อมตามวัย และทวงคืนอายุร่างกายให้วัยทอง ดังนี้

  1. กินอาหารน้อยลง เนื่องจากวัยนี้มีอัตราการเผาผลาญอาหารต่ำลง ทำให้อ้วนง่าย จึงควรกินอาหารปริมาณน้อยลง แต่ยังคงมีสารอาหารที่หลากหลายและครบถ้วน เช่น เปลี่ยนจากข้าวสวยเป็นข้าวกล้อง และลดปริมาณลงเหลือประมาณ 1 ทัพพีต่อมื้อ เน้นผักหลากหลายชนิด และเนื้อสัตว์ที่ย่อยง่ายอย่าง ปลานึ่ง อกไก่อบ เป็นต้น
  2. เน้นอาหารเช้า การกินอาหารเช้าให้มากขึ้นเป็นวิธีช่วยหยุดปัญหาน้ำหนักพุ่งในช่วงวัยกลางคน เพราะเมื่อได้รับพลังงานจากมื้อเช้าเพียงพอ จะมีแนวโน้มที่จะกินเกินพิกัดระหว่างวันน้อยลง เน้นอาหารเช้าที่มีใยอาหารสูง เพราะช่วยให้อิ่มนาน มีวิตามิน และแร่ธาตุที่ร่างกายต้องการ เช่น ข้าวกล้อง ขนมปังโฮลวีท ซีเรียลโฮลเกรน และผักผลไม้ต่างๆ
  3. ผู้หญิงวัยนี้ฮอร์โมนเอสโตรเจนลดลง จึงควรบริโภคอาหารที่ให้ไฟโตเอสโตรเจน ที่มีคุณสมบัติคล้ายคลึงกับฮอร์โมนเพศหญิง ซึ่งจะช่วยลดอาการที่เกิดขึ้นในหญิงวัยทองได้เป็นอย่างดี ได้แก่ ถั่วเหลือง เต้าหู้ น้ำเต้าหู้ งา ธัญพืชต่างๆ เช่น ข้าวกล้อง ข้าวสาลี ข้าวโอ๊ต กระเทียม หอมหัวใหญ่ เมล็ดทานตะวัน เป็นต้น
  4. เพิ่มการบริโภคแคลเซียมให้มากขึ้น เพื่อชะลอการสูญเสียมวลกระดูกลดความเสี่ยงโรคกระดูกพรุน โดยดื่มนมชนิดไขมันต่ำ เครื่องดื่มธัญญาหารเสริมแคลเซียม ปลาตัวเล็กๆที่รับประทานได้ทั้งก้าง กุ้งฝอย เต้าหู้ ผักใบเขียวเข้ม เช่น คะน้า ผักกระเฉด ใบยอ
  5. รับแสงแดดบ้าง เพื่อให้ได้รับวิตามินดีช่วยในการดูดซึมแคลเซียม
  6. กระตุ้นการหลั่งโกรทฮอร์โมน (Growth Hormone) ในวัยผู้ใหญ่ โกรทฮอร์โมนจะกระตุ้นการแบ่งเซลล์ของเนื้อเยื่อต่างๆ เพื่อให้การซ่อมแซมส่วนที่สึกหรอเป็นไปอย่างมีประสิทธิภาพ ซึ่งทำได้โดยการ
  • ออกกำลังกายความหนักปานกลาง อย่างสม่ำเสมอ ประมาณวันละ 30-60 นาที
  • การนอนหลับสนิทและเต็มอิ่ม จะกระตุ้นการหลั่งโกรท ฮอร์โมนได้เป็นอย่างดี
  • อาหารโปรตีนที่มีกรดอะมิโนอาร์จินีน จะช่วยกระตุ้นการหลั่งโกรท ฮอร์โมน พบได้ในปลาทะเล ถั่วเหลือง ไข่ นม เป็นต้น
ดื่มน้ำให้เพียงพอ หญิงวัยทองจะมีปัญหาเรื่องปริมาณน้ำในร่างกายลดลง ประกอบกับอายุมากขึ้น ศูนย์ควบคุมความรู้สึกกระหายน้ำทำงานได้ไม่ดี ดังนั้นจึงควรจิบน้ำบ่อยๆ แม้ไม่รู้สึกกระหายน้ำ เข้าสังคมเป็นประจำ การศึกษาพบว่าสตรีสูงวัยที่ยังเข้าสังคมจะมีอายุยืนกว่าคนที่อยู่ตามลำพัง