Sort by
Sort by

ถ่ายยาก...เรื่องใหญ่

ถ่ายยาก...เรื่องใหญ่

หลายคนคงเคยประสบปัญหาท้องผูกกันมาบ้างแล้ว บางคนผูกมาก บางคนผูกน้อย บางคนผูกบ่อย บางคนนาน ๆ ครั้ง แต่ท้องผูกขึ้นมาคราวใดก็พาลให้หงุดหงิด เพราะจะรู้สึกอึดอัด แน่นท้อง ท้องอืด ท้องป่อง ทำให้ขาดความไม่มั่นใจ  ขืนปล่อยให้ท้องผูกเรื้อรัง อาจกลายเป็นเรื่องใหญ่ เพราะริดสีดวงทวารหรืออาการลำไส้อุดตันอาจมาเยือน

อาการแบบไหนที่เรียกว่าท้องผูก
โดยทั่วไปจะถือว่าท้องผูกหากถ่ายอุจจาระน้อยกว่า 3 ครั้งต่อสัปดาห์  หรืออาจถ่ายทุกวันแต่อุจจาระเป็นก้อนแข็ง หรือต้องเบ่งมากกว่าปกติ หรือถ่ายอุจจาระไม่สุด


ท้องผูกหายแน่ แค่เปลี่ยนพฤติกรรม

  1. กินอาหารเพิ่มกากใย โดยการกินผักสดผลไม้สดให้มากๆ เช่น มะละกอสุก สับปะรด ลูกพรุน นอกจากจะช่วยลดอาการท้องผูกแล้วยังได้วิตามิน แร่ธาตุ และสารต้านอนุมูลอิสระที่ดีต่อร่างกายอีกด้วย โดยทั่วไปแนะนำให้กินผักผลไม้รวมกันให้ได้วันละครึ่งกิโลกรัม หรือให้ได้ใยอาหารวันละ 25 กรัม แต่หากไม่แน่ใจว่าจะกินผักผลไม้ได้มากพอ อาจใช้วิธีดื่มเครื่องดื่มที่มีส่วนผสมของใยอาหาร และกินอาหารที่มีทำมาจากธัญพืชขัดสีน้อย ธัญพืชเต็มเมล็ดหรือโฮลเกรนให้มากขึ้น
  2. ดื่มน้ำให้มากขึ้น ใยอาหารอย่างเดียวไม่พอ ต้องดื่มน้ำให้มากขึ้นด้วย เพราะน้ำจะช่วยให้อุจจาระนิ่มขึ้น บางคนวันละ 8 แก้วไม่พอ อาจต้องเพิ่มเป็น 10-12 แก้ว
  3. ฝึกถ่ายอุจจาระให้เป็นเวลาทุกวันจนเป็นนิสัย จะเป็นช่วงเช้าหรือเย็นก็ได้ แต่เวลาดีที่สุดคือหลังอาหารเช้าเพราะอาหารจะเข้าไปกระตุ้นให้ลำไส้เกิดการบีบตัว ซึ่งจะเกิดในช่วง 5-30 นาทีหลังมื้ออาหาร
  4. เข้าห้องน้ำทันทีเมื่อรู้สึกปวดถ่าย ไม่ควรรอหรือทนอั้นไว้เพราะยิ่งรอไว้นาน ยิ่งเพิ่มอาการท้องผูก เพราะอุจจาระ ที่ถูกกลั้นไว้ที่ลำไส้ส่วนล่าง ลำไส้ใหญ่จะทำหน้าที่ดูดน้ำออกไปเรื่อยๆ ทำให้ก้อนอุจจาระแข็งและแห้งมากขึ้น ทำให้ต้องเบ่งมากขึ้น 
  5. ออกกำลังกายเพื่อให้ลำไส้เคลื่อนไหว เลือกกิจกรรมที่ทำให้ลำไส้มีการขยับตัว เช่น เดิน วิ่ง ฯลฯ จะทำให้ระบบลำไส้ทำงานได้ดีขึ้น
  6. การนวดลำไส้ โดยการใช้ฝ่ามือลูบท้องตั้งแต่ใต้สะดือ วนจากขวาไปทางซ้าย 10-20 รอบ สักพักจะรู้สึกอยากเข้าห้องน้ำ
  7. เปลี่ยนท่านั่งในการเข้าห้องน้ำเพื่อให้ขับถ่ายดีขึ้น โดยให้นั่งยอง ๆ แบบส้วมหลุม เนื่องจากจะทำให้ลำไส้ใหญ่ส่วนปลายอยู่ในลักษณะตรง ทำให้ขับถ่ายได้ง่ายและไม่มีอุจจาระเหลือค้างอยู่ในลำไส้ใหญ่ แต่ถ้าบ้านไหนเป็นชักโครก เวลานั่งให้หาเก้าอี้เตี้ยๆ มาวางเท้า เพื่อให้เข่ายกสูงขึ้น
ใครที่มีปัญหาท้องผูกลองนำวิธีเหล่านี้ไปใช้กันดูนะคะ แล้วจะพบว่าเรื่องถ่ายยากสามารถแก้ไขได้ค่ะ