Sort by
Sort by

เลือกทานอาหารอย่างไร ไม่ให้ขาดธาตุเหล็ก

ขาดธาตุเหล็ก เรื่องไม่เล็กของทุกวัย

ธาตุเหล็กเป็นแร่ธาตุที่เป็นส่วนประกอบในเซลล์ต่างๆ ของร่างกาย เราจะได้รับธาตุเหล็กจากอาหารเป็นหลัก โดยอาหารที่พบธาตุเหล็กมากได้แก่ เนื้อสัตว์ โดยเฉพาะสัตว์เนื้อแดง เครื่องในสัตว์ ตับ นอกจากนี้ยังพบธาตุเหล็กได้ในผักใบเขียวและธัญพืช แต่ธาตุเหล็กประเภทหลังนี้จะถูกดูดซึมได้ไม่ดีเท่าธาตุเหล็กจากอาหารประเภทเนื้อสัตว์ นอกจากนี้ผู้ที่รับประทานยาเม็ดเสริมแคลเซียมก็อาจไปรบกวนการดูดซึมธาตุเหล็กหากรับประทานพร้อมกัน ส่วนอาหารที่มีวิตามินซีสูง เช่น ผลไม้ จะช่วยให้ธาตุเหล็กดูดซึมได้ดีขึ้น

ธาตุเหล็กจะถูกดูดซึมโดยมีกรดในกระเพาะอาหารช่วย และมีการดูดซึมบริเวณลำไส้เล็กส่วนต้น หลังจากนั้นจะมีโปรตีนส่งธาตุเหล็กไปตามเซลล์ต่างๆ โดยมากกว่าสองในสามของธาตุเหล็กในร่างกายจะอยู่ในเม็ดเลือดแดงในส่วนที่เรียกว่าฮีม ซึ่งจะเป็นส่วนที่ช่วยในการจับกับออกซิเจนและส่งไปให้ส่วนต่างๆ ของร่างกาย ส่วนที่เหลือของธาตุเหล็กจะถูกเก็บสะสมไว้ในตับ ม้าม และไขกระดูก นอกจากนี้ธาตุเหล็กยังเป็นส่วนประกอบของเอนไซม์ต่างๆ หลายชนิดในสมองและมีบทบาทในการทำงานของเม็ดเลือดขาวซึ่งเป็นกลไกต้านทานโรค

คนไทยขาดธาตุเหล็กในทุกกลุ่มอายุ

จากการสำรวจภาวะอาหารและโภชนาการของประเทศไทย ครั้งที่ 5 พ.ศ.2546 พบภาวะโลหิตจางในเด็กอายุ 1-5 ปีมากถึง 25.9% กลุ่มเด็กวัยเรียนอายุ 6-8 ปี 46.7% กลุ่มเด็กวัยเรียนอายุ 9 - 11 ปี 25.4% และกลุ่มเด็กวัยเรียน อายุ 12 -14 ปี 15.7% จากการสำรวจโลหิตจางในกลุ่มหญิงตั้งครรภ์ พ.ศ. 2547 –2553 ของสำนักส่งเสริมสุขภาพ พบว่าในกลุ่มหญิงตั้งครรภ์มีภาวะโลหิตจาง 18.4% และจากการรายงานสำรวจสุขภาพประชาชนไทยโดยการตรวจร่างกาย ครั้งที่ 4 พ.ศ. 2551 - 2552 พบว่ากลุ่มอายุมากกว่า 80 ปี มีภาวะโลหิตจากสูงถึง 60.7%  ซึ่งสาเหตุของโลหิตจางมากกว่าร้อยละ 50 เกิดจากการขาดธาตุเหล็ก

การขาดธาตุเหล็กถ้าเกิดในทารกจะทำให้มีปัญหาเรื่องการเรียนรู้ การพัฒนาสมองช้า โดยเฉพาะทารกในขวบปีแรกจะทำให้เกิดผลเสียต่อสมองอย่างถาวร หากเกิดในเด็กวัยเรียน จะทำให้ประสิทธิภาพการเรียนต่ำ ขาดสมาธิ ไม่กระตือรือร้น อ่อนเพลีย เฉื่อยชา และสติปัญญาตํ่า  ในวัยทำงาน ถ้าขาดธาตุเหล็กประสิทธิภาพการทำงานก็จะด้อย ทำงานได้น้อย เหนื่อยง่าย สำหรับหญิงมีครรภ์ หากขาดธาตุเหล็กจะทำให้อัตราการตายของแม่และลูกเพิ่มขึ้น  

วิธีป้องกันการขาดธาตุเหล็ก

  1. กินอาหารที่มีธาตุเหล็กให้มากพอ ทารกที่กินนมแม่จะได้รับธาตุเหล็กจากนมแม่เพียงพอจนกระทั่งอายุ 6 เดือน หลังจากนั้นจำเป็นต้องได้รับธาตุเหล็กจากการกินอาหารเสริมตามวัย เช่น อาหารเสริมจากธัญพืช เสริมธาตุเหล็ก ไข่แดง ตับ เลือด และผักใบเขียว  วัยเรียน วัยทำงานและวัยสูงอายุ ควรกินอาหารที่มีธาตุเหล็กเพิ่มขึ้น อาจเสริมด้วยเครื่องดื่มผสมธัญพืชที่เสริมธาตุเหล็ก
  2. การกินอาหารที่มีเนื้อสัตว์ไปพร้อมๆ กับผักและผลไม้สด หรือดื่มเครื่องดื่มที่มีวิตามินซีสูง เพื่อช่วยในการดูดซึมธาตุเหล็ก
  3. กินตับสัตว์และเลือดสัตว์ สัปดาห์ละ ๑-๒ ครั้ง
  4. สำหรับผู้ที่กินมังสวิรัติ ควรกินอาหารที่ให้วิตามินซีสูงไปพร้อมกับพืชผักที่มีธาตุเหล็กสูง เช่น ผักกูด ผักแว่น ใบแมงลัก พริกหวาน กะเพราแดง ขึ้นฉ่าย หรือถั่วเมล็ดแห้งต่างๆ เพื่อช่วยในการดูดซึมและนำไปใช้ได้ดีขึ้น