Sort by
Sort by

การควบคุมน้ำหนักในผู้สูงอายุ

การควบคุมน้ำหนักในผู้สูงอายุ
เมื่ออายุยิ่งเพิ่ม น้ำหนักที่มากขึ้นยิ่งตามมา ย่อมส่งผลเสียต่อสุขภาพมากกว่าผลดี เพราะจะนำมาซึ่งโรคของผู้สูงอายุที่จะส่งผลต่อการใช้ชีวิตที่เปลี่ยนไป อาทิ โรคเบาหวาน โคเลสเตอรอลสูง หรือโรคกระดูกไขข้อต่างๆ ดังนั้น การดูแลน้ำหนักให้อยู่ในเกณฑ์ที่เหมาะสมจึงเป็นเรื่องที่ลูกหลานควรใส่ใจดูแลเป็นพิเศษ แต่จะให้ผู้สูงอายุลดน้ำหนักด้วย การอดอาหารหรือออกกำลังกายอย่างหนักเหมือนเด็กและวัยรุ่นคงลำบาก ด้วยร่างกายและสภาวะที่เปลี่ยนไป การลดน้ำหนักในผู้สูงอายุจึงควรทำอย่างพิถีพิถันเพื่อให้ยังได้รับสารอาหารที่ครบถ้วนควบคู่กันไปด้วย

ผู้สูงอายุที่ว่านี้หมายถึง ผู้ที่มีอายุ 60 ปีขึ้นไป แต่จะว่าไปแล้ว อายุผู้สูงอายุในปัจจุบันน่าจะเฉลี่ยสูงขึ้น เนื่องจากจำนวนผู้สูงอายุที่มีมากขึ้น เพราะมีเทคโนโลยีทางด้านการแพทย์ที่ทันสมัยและพัฒนาไปมากกว่าสมัยก่อนมาก แต่ถึงอย่างไรการดูแลเอาใจใส่ผู้สูงอายุในเรื่องต่างๆ ก็เป็นสิ่งสำคัญ เพราะเป็นวัยที่มีการเปลี่ยนแปลงอย่างเห็นได้ชัด ทั้งทางด้านร่างกายและจิตใจ โดยระบบต่างๆ ในร่างกายจะเสื่อมลงตามอายุขัย ส่วนสภาพจิตใจก็จะมีการเปลี่ยนแปลงง่าย ขี้หงุดหงิด มีความวิตกกังวลเพิ่มมากขึ้น สิ่งต่างๆ เหล่านี้เป็นสิ่งที่ลูกหลานจะต้องดูแลอย่างใกล้ชิด โดยเฉพาะเรื่องของอาหารการกิน เป็นสิ่งที่ละเลยไม่ได้

อาหารกับวัยผู้สูงอายุ

อาหารมีความสำคัญต่อการดำเนินชีวิตของคนเรา ไม่ว่าจะอยู่ในวัยไหนก็ตาม ยิ่งถ้ามีภาวะทางโภชนาการที่ดี มีสุขภาพร่างกายแข็งแรง การเปลี่ยนแปลงสภาวะในร่างกายก็จะเป็นไปอย่างช้าๆ แต่ถ้ามีภาวะโภชนาการไม่ดี มีน้ำหนักที่ไม่เหมาะสมก็จะทำให้ร่างกายเสื่อมโทรมหรือแก่เร็ว ดังนั้น เราจึงควรใส่ใจในเรื่องอาหารการกินมาตั้งแต่วัยหนุ่มสาว
การกินอาหารครบ 5 หมู่เป็นสิ่งจำเป็นสำหรับทุกวัย โดยเฉพาะวัยผู้สูงอายุที่ต้องได้รับสารอาหารอย่างเพียงพอ เพื่อไปซ่อมแซมส่วนที่สึกหรอ และสร้างภูมิต้านทานโรค ซึ่งนอกจากจะให้กินอาหารครบ 5 หมู่และควบคุมเรื่องปริมาณของอาหารแล้ว ยังต้องเลือกชนิดของอาหารให้เหมาะสมด้วย เช่น นมที่ให้ดื่ม ก็ควรเป็นนมไขมันต่ำ เพื่อจำกัดปริมาณไขมัน และโคเลสเตอรอล ส่วนเนื้อสัตว์ ควรเลือกเนื้อสัตว์ที่มีมันน้อย เช่น เนื้อปลา ส่วนเนื้อสัตว์ปีก เช่น เนื้อไก่ อาจต้อลลดปริมาณลงบ้าง เพื่อป้องกันการได้รับกรดยูริคที่มากเกิน ซึ่งอาจนำไปสู่โรคข้ออักเสบ หรือโรคเก๊าได้

วิธีควบคุมน้ำหนัก

โดยธรรมชาติแล้วเมื่อเข้าสู่วัยชรา ผู้สูงอายุอาจมีน้ำหนักลดลงบ้าง แต่ไม่ควรเกินร้อยละ 5 ของน้ำหนักตัวเดิมในระยะเวลา 6 เดือน แต่ในกรณีน้ำหนักเกินอยู่แล้ว ควรจะลดน้ำหนักให้อยู่ในระดับพอดี เพราะหากต้องแบกรับน้ำหนักต่อไป อาจทำให้เกิดโรคร้ายอื่นๆ ตามมาได้ การลดน้ำหนักให้ได้ผลควรค่อยเป็นค่อยไป ทำได้โดย
  • ควรกินอาหารให้ตรงเวลา และครบทุกมื้อ เพื่อรักษาระบบเผาผลาญอาหารให้เป็นปกติ แต่ต้องลดปริมาณในแต่ละมื้อลง
  • ดื่มน้ำอย่างน้อยวันละ 8 แก้ว เพื่อกระตุ้นระบบเผาผลาญอาหาร และลดความอยากกินอาหาร
  • ปรุงประกอบอาหารด้วยวิธีต้ม ตุ๋น นึ่ง อบ แทนการทอด เพื่อลดการใช้น้ำมัน เช่น แกงจืด แกงส้ม แกงเลียง
  • เลือกอาหารที่มีใยอาหาร เช่น ผัก ผลไม้ ธัญพืชเต็มเมล็ด อย่างข้าวกล้อง หรืออาหารเช้าซีเรียลโฮลเกรนผสมนมไขมันต่ำ เพราะใยอาหารจะช่วยให้อิ่มนาน ลดการกินจุบจิบ และสามารถช่วยดูดซับน้ำตาลและโคเลสเตอรอลในเลือดได้ 
  • นอกจากนี้ ควรออกกำลังกายเบาๆ เป็นประจำ เช่น การเดิน หรือวิ่งเหยาะๆเพื่อให้รู้สึกสดชื่น และร่างกายเผาผลาญพลังงานได้ดี อย่างไรก็ตาม การควบคุมน้ำหนักให้กับผู้สูงอายุควรทำอย่างค่อยเป็นค่อยไป อย่าหักโหม ลูกหลานควรดูแลและให้กำลังใจอย่างใกล้ชิด เพื่อช่วยให้ภารกิจควบคุมน้ำหนักนี้สำเร็จได้ด้วยดี