Sort by
Sort by

ดูแลสุขภาพคุณแม่วัยทอง

ดูแลสุขภาพคุณแม่วัยทอง

เมื่อคุณแม่ของคุณย่างเข้าสู่วัยทอง คุณจะพบว่ามีความเปลี่ยนแปลงเกิดขึ้นกับร่างกายและจิตใจของท่านมากมาย เพราะสุขภาพของคนที่มีอายุ 40 ปีขึ้นไป มักจะมีปัญหาต่างๆ เช่น รอบเอวขยายเพิ่มขึ้นเพราะการเผาผลาญอาหารช้าลง กล้ามเนื้อของกระเพาะอาหารไม่แข็งแรง ทำให้รับประทานอาหารไม่ได้มากและรับประทานอาหารรสจัดไม่ได้ มีปัญหาปวดเมื่อยตามร่างกาย ผิวหนังแห้งกร้านขึ้น เส้นผมแห้งหยาบมากขึ้น อารมณ์หงุดหงิดแปรปรวนได้ง่าย มีอาการซึมเศร้า เป็นต้น

ความเปลี่ยนแปลงต่างๆ เหล่านี้ ทำให้คุณแม่ในวัยทองเกิดความเครียดและอาจส่งผลให้คนใกล้ชิดรู้สึกเครียดตามไปด้วย เพราะฉะนั้นสิ่งที่ดีที่สุดที่เราสามารถทำได้ คือช่วยกันดูแลสุขภาพให้คุณแม่วัยทอง เพื่อให้ท่านสามารถรับมือกับความเปลี่ยนแปลงต่างๆ เหล่านี้ได้ โดยวิธีการต่างๆ เหล่านี้

  • ชวนคุณแม่ออกกำลังกายอย่างน้อยสัปดาห์ละ 3 วัน วันละอย่างน้อย 30 นาที ด้วยการเต้นแอโรบิค เดินหรือวิ่งเหยาะๆ หรือรำมวยจีน ก่อนอาหารเช้าสัก 30 นาที หรือก่อนอาหารเย็น 30 นาที
  • ช่วยกันดูแลเรื่องอาหารการกิน โดยควรให้คุณแม่รับประทานอาหารที่มีประโยชน์และให้พลังงาน ไม่เกิน 800 แคลอรีต่อวัน แนะนำให้คุณแม่เลือกรับประทานอาหารที่มีเส้นใยอาหารสูง อาหารที่ปรุงเสร็จใหม่ๆ อาหารที่มีแคลเซียมสูง เช่น นม โยเกิร์ต พืชตระกูลถั่ว เต้าหู้ งาดำ ปลาเล็กปลาน้อยที่รับประทานพร้อมก้าง ผักใบเขียว เป็นต้น เพื่อเสริมสร้างกระดูกและป้องกันภาวะกระดูกพรุน หลีกเลี่ยงอาหารที่หวาน มัน หรือเค็มมากเกินไป
  • ดูแลให้คุณแม่ดื่มน้ำสะอาดอย่างน้อยวันละ 1-2 ลิตรเป็นประจำ
  • พาคุณแม่ไปตรวจร่างกายอย่างสม่ำเสมอปีละ 1 ครั้ง โดยตรวจเช็คความดันโลหิต ตรวจเลือดหาระดับไขมันและน้ำตาล ตรวจภายในเช็คมะเร็งปากมดลูก ตรวจหามะเร็งเต้านม และตรวจหาความหนาแน่นของกระดูก
  • ดูแลให้คุณแม่นอนหลับพักผ่อนอย่างเพียงพอ เพื่อให้สุขภาพร่างกายแข็งแรง และการได้นอนหลับพักผ่อนอย่างเพียงพอยังช่วยลดความเครียดได้เป็นอย่างดี
  • ชวนคุณแม่ทำกิจกรรมเกี่ยวกับความสวยความงาม เช่น อบไอน้ำเส้นผม นวดหน้า หรือนวดตัวบ้าง นอกจากช่วยผ่อนคลายแล้วยังช่วยดูแลเส้นผมและผิวพรรณอีกด้วย
  • ชวนคุณแม่ทำกิจกรรมพักผ่อน เช่น ท่องเที่ยว ดูหนัง ช้อปปิ้ง หรือทำงานอดิเรกต่างๆ เช่น ทำอาหารร่วมกัน นอกจากจะช่วยคลายเหงาให้ท่านแล้ว ยังเป็นการเชื่อมความสัมพันธ์อันดีในครอบครัวอีกด้วย

เพียงเท่านี้ คุณก็สามารถช่วยให้คุณแม่สามารถรับมือกับการเปลี่ยนแปลงในวัยทอง ได้อย่างมีความสุขแล้วล่ะค่ะ