Sort by
Sort by

โรคกระดูกพรุนในสตรีวัยทอง

โรคกระดูกพรุนในสตรีวัยทอง
โรคกระดูกพรุนเป็นความผิดปกติของกระดูกทำให้ความแข็งแรงของกระดูกลดลง ส่งผลให้มีการเพิ่มความเสี่ยงของกระดูกหัก โดยความแข็งแรงของกระดูกสะท้อนถึงการผสมผสานกันระหว่างสององค์ประกอบใหญ่คือ คุณภาพของกระดูก และความหนาแน่นของกระดูก ปัจจัยที่มีผลต่อสุขภาพของกระดูก มีตั้งแต่ปัจจัยทางกรรมพันธุ์ต่างๆ และปัจจัยจากสิ่งแวดล้อม เช่น อาหาร การออกกำลังกาย วิถีการดำเนินชีวิต โรคประจำตัว รวมทั้งยาต่างๆที่ใช้เป็นประจำ

เมื่อเข้าสู่วัยหมดระดูฮอร์โมนเอสโตรเจนจากรังไข่จะลดลงมาก ทำให้มีการสลายของกระดูกเพิ่มขึ้น โดยพบว่าร้อยละ 20 ของกระดูกอาจสลายไปในช่วง 5-7 ปีแรกของวัยหมดระดู ทำให้สตรีบางคนเกิดโรคกระดูกพรุนในวัยหมดระดู เมื่ออายุมากขึ้นจนเข้าวัยสูงอายุ ทางเดินอาหารจะดูดซึมแคลเซียมได้น้อยลง แคลเซียมบางส่วนจะถูกดึงออกมาจากกระดูก เพื่อนำไปใช้ในหน้าที่ต่างๆ ของร่างกาย ดังนั้น ผู้สูงอายุจึงมีการสลายของกระดูกจนอาจเกิดโรคกระดูกพรุน โดยเรียกว่าโรคกระดูกพรุนในผู้สูงอายุ สำหรับตำแหน่งที่จะเกิดปัญหาการสลายของกระดูกอย่างรวดเร็วและเกิดโรคกระดูกพรุนในสตรีวัยทอง เช่น กระดูกสันหลัง โดยเฉพาะระดับเอว กระดูกปลายแขน และกระดูกสะโพก

การวินิจฉัยโรคกระดูกพรุนทำโดยการตรวจวัดความหนาแน่นของกระดูกด้วยเครื่องมือที่เรียกว่า dual energy X-ray absorption meter (DXA ) ใช้นิยามขององค์การอนามัยโลกในการวินิจฉัยโรคกระดูกพรุน เมื่อความหนาแน่นของกระดูกต่ำกว่า -2.5 ส่วนเบี่ยงเบนมาตรฐาน เมื่อเปรียบเทียบกับค่าเฉลี่ยสูงสุดในวัยสาว (mean peak bone mass) ซึ่งก็คือ T-score = -2.5 แต่ถ้า T-score อยู่ในช่วง -1 ถึง -2.5 ให้การวินิจฉัยว่ากระดูกบาง (osteopenia) และ T-score มากกว่า -1 ขึ้นไป ถือว่าความหนาแน่นของกระดูกอยู่ในเกณฑ์ปกติ

การป้องกันรักษาโรคกระดูกพรุน

1. แนะนำเรื่องการลดปัจจัยเสี่ยงต่างๆ ที่อาจะทำให้เกิดโรคกระดูกพรุน เช่น การสูบบุหรี่ ดื่มแอลกอฮอล์ เป็นต้น
2. ควรได้รับแคลเซียมและวิตามินดีอย่างเพียงพอทุกวัน
3. ออกกำลังกายชนิดต้านแรงโน้มถ่วงของโลก (weight – bearing exercise)
4. มีมาตรการในการป้องกันการหกล้ม

ผู้ที่อายุมากกว่า 50 ปี ควรบริโภคแคลเซียมอิสระวันละ 1,000 มิลลิกรัม แต่จากการสำรวจปริมาณแคลเซียมที่คนไทยบริโภคใน 1 วัน ระหว่าง พ.ศ.2503-2538 พบว่าคนไทยบริโภคแคลเซียมประมาณ 278-359 มิลลิกรัมต่อวันเท่านั้น ซึ่งถือว่าปริมาณน้อยมาก ดังนั้น จึงควรแนะนำให้ดื่มนมหรือรับประทานอาหารที่มีแคลเซียมสูง เช่น ปลาเล็กปลาน้อย เต้าหู้ ถ้าไม่สามารถรับประทานอาหารให้ได้เพียงพอแคลเซียมเสริมก็อาจมีประโยชน์

สำหรับวิตามินดี หน้าที่หลักคือ เพิ่มการดูดซึมแคลเซียมในลำไส้เล็ก ส่วนใหญ่ร่างกายได้รับวิตามินดี จากแสงแดดโดยการสังเคราะห์ผ่านผิวหนัง การที่จะได้รับวิตามินดีอย่างเพียงพอสามารถทำได้ง่ายๆ โดยการรับแสงแดดตอนเช้าหรือเย็น โดยใช้เวลาเพียง 10-15 นาทีต่อวัน พื้นที่ผิวหนังที่รับแสงแดดเพียงร้อยละ 15 ของพื้นที่ผิวทั้งหมดก็พอเพียง

สำหรับยาที่ใช้ในการป้องกันรักษาโรคกระดูกพรุนมีมากมายหลายชนิด ควรปรึกษาแพทย์เพื่อประเมินความเสี่ยงต่อการเกิดโรคกระดูกพรุน และพิจารณาให้ยาตามข้อบ่งชี้

โดยสรุปแนวทางการป้องกันรักษาโรคกระดูกพรุน ควรจะเริ่มตั้งแต่อายุยังน้อย การรับประทานอาหารที่มีแคลเซียมสูงและออกกำลังกายสม่ำเสมอ เมื่อเข้าสู่วัยทอง จำเป็นต้องมีการดูแลรักษาเพื่อป้องกันไม่ให้กระดูกบางลงจนเกิดโรคกระดูกพรุน การดูแลผู้ป่วยแบบองค์รวม และปรึกษาแพทย์เพื่อหาทางป้องกันรักษาโรคกระดูกพรุนเป็นสิ่งที่มีความจำเป็นและมีความสำคัญอย่างยิ่ง

ที่มา : นพ. กระเษียร ปัญญาคำเลิศ