Sort by
Sort by

รู้ได้อย่างไรว่า “ลูกน้อย เริ่มเครียด” ?!

รู้ได้อย่างไรว่า “ลูกน้อย เริ่มเครียด” ?!

ถ้าคุณพ่อคุณแม่ต้องเจอกับปัญหาแบบนี้... 

ลูกรักมักจะปวดท้องทุกเช้าก่อนไปโรงเรียน บางคนก็อาเจียนหลังอาหารทุกๆ เช้า บางคนก็งอแงกันตรงๆ ว่า “หนูไม่อยากไปโรงเรียน” หรือเริ่มมีนิสัยก้าวร้าวขึ้น นี่แหละค่ะเป็นสัญญาณว่า “ลูกน้อยของคุณกำลังเครียด”

เด็กเครียดได้เหมือนผู้ใหญ่ค่ะ มาจากหลายสาเหตุ คือทั้งจากตัวเด็กเอง เช่น มีปัญหาสุขภาพ หรือปัญหาจากผู้เลี้ยงดู เช่น ถูกผู้ใหญ่เลี้ยงดูแบบย้ำคิดย้ำทำ เข้มงวดเกินไป หรือถูกตามใจมากเกินไป แต่เด็กบางคนก็มีปัญหาไม่ชอบสภาพแวดล้อมที่เด็กอยู่ก็เป็นได้ เช่น โรงเรียน ฯลฯ

เด็กเล็กๆ เวลาเครียด เขาบอกเราไม่เป็น แต่มักจะแสดงออกด้วยอาการและพฤติกรรมต่างๆ แทน คุณพ่อคุณแม่ต้องหมั่นสังเกตว่าลูกคุณเป็นแบบนี้บ้างหรือเปล่า เช่น

  • ร้องไห้งอแง ไม่เชื่อฟัง จนดูเหมือนเป็นเด็กดื้อ
  • มีพฤติกรรมแปลกๆ ไปจากเดิม อย่างเริ่มดูดนิ้วมือ ดึงผม ถูจมูกบ่อยๆ
  • ปวดท้อง ปวดหัว อาเจียน แบบไม่ทราบสาเหตุบ่อยๆ
  • นอนไม่หลับ ตื่นตอนกลางคืน บางคนละเมอออกมาเดินหรือปัสสาวะรดที่นอน
  • บางคนไม่กล้าแสดงออก บางคนเอาแต่ใจตนเอง
  • เด็กบางคนเข้ากับคนอื่นไม่ได้ ชอบเล่นคนเดียว เก็บตัว ซึมเศร้า
  • บางคนก็อาละวาดไม่หยุด แบบไม่มีเหตุผล
  • ก้าวร้าว หรือเริ่มพูดโกหก
  • เด็กบางคนสมาธิสั้นอยู่แล้วก็จะยิ่งเป็นมากขึ้น

เมื่อเด็กเครียดจะขัดขวางต่อพัฒนาการการเรียนรู้ของเด็ก และจะมีปัญญาบุคลิกภาพเมื่อโตขึ้นด้วย ดังนั้นต้องแก้ไขค่ะ ขอแนะนำ วิธีง่ายๆ ลดความเครียดให้แก่คุณลูกดังนี้

  • ชวนเด็กออกกำลังกายที่ได้เคลื่อนไหวร่างกาย เช่น ว่ายน้ำ ขี่จักรยาน เพราะเมื่อเหนื่อยฮอร์โมนเอ็นโดฟินส์หรือฮอร์โมนแห่งความสุขจะหลั่งออกมาทำให้มีความสุขขึ้น
  • เพิ่มกิจกรรมที่เพลิดเพลินมีความสุขในครอบครัว เช่น อ่านนิทานให้ลูกฟัง เลี้ยงสุนัข
  • ชื่นชม และให้กำลังใจในทางบวกและสุภาพกับลูกรักเสมอๆ เช่น “หนูเก่งมาก” “หนูเป็นเด็กดี”
  • ปล่อยให้ลูกได้แสดงออกแต่ไม่ตามใจเกินไป เช่น ปล่อยลูกได้ร้องไห้ เด็กจะได้ไม่เก็บความเครียดไว้เมื่อเด็กหยุดร้องไห้ ก็อธิบายเหตุผลให้เด็กรู้ถึงข้อดีข้อเสียในเรื่องที่เด็กมีปัญหา
  • ยอมรับในความสามารถของเด็กไม่บังคับให้เด็กทำในสิ่งที่ยังไม่พร้อม เช่น สอนให้เขียนหนังสือก่อนวัย
  • พ่อแม่ต้องมีเหตุผล ไม่ลงโทษเด็กโดยไม่ถามหรืออธิบายเหตุผลให้เด็กเข้าใจ
  • อย่ากังวลเมื่อเด็กทำผิดพลาด เพราะเป็นการเรียนรู้ของเด็ก ซึ่งเด็กจะรู้จักปรับตัวและแก้ไขปัญหาได้ต่อไป

อย่าลืมนะคะว่าถ้าลูกของคุณมีความสุข เขาก็จะเป็นเด็กอารมณ์ดี และจะมีพัฒนาการที่ดีในทุกๆ ด้านค่ะ