Sort by
Sort by

รอบรู้เรื่องโภชนาการ A- Z

รอบรู้เรื่องโภชนาการ A- Z
A
  • Acidophilus (Lactobacillus Acidophilus) Acidophilus คือแบคทีเรียโปรไบโอติกที่มักพบในโยเกิร์ต แบคทีเรียโปรไบโอติกจะไม่ถูกกระเพาะย่อยสลายและช่วยให้ระดับของ “แบคทีเรียชนิดดี” ในบริเวณลำไส้ส่วนล่างให้มีความสมดุล ซึ่งความสมดุลของแบคทีเรียที่ “เป็นมิตร” ในระบบลำไส้นี้จะช่วยลดความเสี่ยงต่อปัญหาสุขภาพต่างๆ
  • Additives Additives หรือสารปรุงแต่งอาหารจะใช้เพื่อการถนอมอาหาร และ/หรือทำให้รสชาติ รูปลักษณ์ คุณภาพ และความเสถียรของอาหารดีขึ้น ส่วนประกอบมากมายที่ใช้ในสารปรุงแต่งอาหารก็มักเป็นสารที่พบในอาหารตามธรรมชาติอยู่แล้ว สารปรุงแต่งเหล่านี้มีรายชื่ออยู่ในรายการบอกส่วนผสมของอาหารที่มีหีบห่อบรรจุ โดยชื่อจะระบุถึงหน้าที่ของมันก่อน ตามมาด้วยชื่อเฉพาะหรือไม่ก็ตัวเลขเฉพาะสำหรับสารแต่ละชนิด ยกตัวอย่างเช่น emulsifier (322) ตัวเลขรหัสของสารปรุงแต่งมีเพื่อให้มันจำได้ง่ายขึ้น เพราะชื่อของมันอาจยาวและยากเกินไป 
  • Amino Acid กรดอะมิโนคือหน่วยพื้นฐานที่เล็กที่สุดของโปรตีน กรดอะมิโนที่แตกต่างกัน 20 ชนิดเหล่านี้จะรวมตัวและก่อให้เกิดโปรตีนชนิดต่างๆ ร่างกายสามารถสร้างกรดอะมิโนได้บางส่วน แต่บางชนิดก็สร้างไม่ได้ เราจึงต้องหากรดอะมิโนเหล่านี้จากอาหารเป็นการทดแทน
  • Anaemia Anaemia หรือภาวะโลหิตจางหมายถึงลักษณะอาการที่ฮีโมโกลบินน้อยกว่าปรกติ ความสามารถในการจับออกซิเจนของโมเลกุลฮีโมโกลบินลดลง อาการปรกติของภาวะโลหิตจางที่มักพบเจอก็คือเหนื่อยอ่อนและอิดโรย สาเหตุของภาวะโลหิตจางมักเกิดจากการขาดแคลนธาตุเหล็ก โฟเลท และ/หรือวิตามินบี 12 (pernicious anaemia) การขาดแคลนธาตุเหล็กคือภาวะโลหิตจางที่พบมากที่สุดในออสเตรเลีย และอาจเกิดจากการรับประทานอาหารที่มีธาตุเหล็กไม่เพียงพอ อาหารที่อุดมด้วยธาตุเหล็กก็อย่างเช่นเนื้อแดง, อาหารทะเล, เนื้อสัตว์ปีก, ขนมปังและซีเรียลชนิดโฮลเกรน, ถั่วเปลือกแข็ง, อาหารประเภทถั่ว และผักใบเขียว ธาตุเหล็กที่พบในเนื้อสัตว์, อาหารทะเล และเนื้อสัตว์ปีกจะดูดซึมได้ง่ายกว่าธาตุเหล็กที่พบในพืชผัก ภาวะโลหิตจางอีกแบบหนึ่งก็คือ pernicious anameia ซึ่งเกิดขึ้นเมื่อร่างกายขาดสาร intrinsic factor (สารที่ช่วยให้ร่างกายดูดซึมวิตามินบี 12 จากอาหาร) pernicious anaemia ก็คือผลของการที่ร่างกายขาดแคลนวิตามินบี 12 นั่นเอง
  • Antioxidants แอนตี้ออกซิแดนท์หรือสารต้านอนุมูลอิสระก็คือสารที่ช่วยปกป้องร่างกายจากการทำลายของอนุมูลอิสระ ร่างกายสามารถผลิตสารแอนตี้ออกซิแดนท์ได้เองและยังพบสารนี้มากในอาหารประเภทผักผลไม้, ชา, กาแฟ, ดาร์กช็อคโกแล็ต และไวน์แดง สารแอนตี้ออกซิแดนท์ที่พบมากก็คือวิตามินซี วิตามินอี และวิตามินเอ และสารพฤกษเคมีอย่างโพลิฟีนอล การรับประทานอาหารที่มีสารแอนตี้ออกซิแดนท์มากนั้นส่งผลดีต่อสุขภาพของคุณ
  • Aspartame แอสปาแตมหรือน้ำตาลเทียมนั้นประกอบไปด้วยกรดอะมิโนสองชนิด aspartate และ phenylalanine กรดอะมิโนเหล่านี้พบตามธรรมชาติในอาหารอย่างเนื้อสัตว์, ผัก, ผลิตภัณฑ์จากนม และซีเรียลธัญพืช กรดอะมิโนพวกนี้หากอยู่เดี่ยวๆ จะไม่มีความหวาน แต่หากมาอยู่รวมกันพวกมันจะผลิตสารที่ให้ความหวานที่หวานกว่าน้ำตาลทั่วไปถึง 200 เท่า
B
  • Body Mass Index (BMI) ดัชนีมวลกาย (BMI) คือการประเมินว่าบุคคลนั้นมีน้ำหนักตัวที่สมดุลกับส่วนสูงหรือไม่ ค่าดัชนีมวลกายวัดได้ด้วยการนำน้ำหนักตัวในหน่วยกิโลกรัมหารด้วยส่วนสูงในหน่วยเมตรยกกำลังสอง (BMI = kg/m2) คนที่มีค่า BMI อยู่ที่ 18 – 25 นั้นถือว่ามีน้ำหนักอยู่ในเกณฑ์ดี ถ้าอยู่ในช่วง 25 – 30 จัดว่าน้ำหนักเกินมาตรฐาน และถ้าเกิน 30 ถือว่าเป็นโรคอ้วน
C
  • Caffeine คาเฟอีนคือสารเคมีที่พบตามธรรมชาติในพืช อาหารที่มีคาเฟอีนมากก็คือเมล็ดกาแฟ, ใบชา ในเมล็ดโกโก้ก็พบคาเฟอีนอยู่บ้างแต่ปริมาณน้อยกว่า คาเฟอีนช่วยกระตุ้นระบบประสาทในร่างกาย และทำให้รู้สึกตื่นตัว
  • Calcium แคลเซียมคือแร่ธาตุซึ่งเป็นส่วนประกอบสำคัญของกระดูก อาหารประเภทนมอย่างเช่นโยเกิร์ต, นม และชีสเป็นแหล่งแคลเซียมชั้นดี และยังพบในแซลมอนและซาร์ดีนที่มีก้างชนิดกระป๋อง, ถั่วบางชนิด, เมล็ดพืช และอาหารที่เสริมสารอาหารบางชนิดลงไปอย่างเช่นอาหารที่ทำจากถั่วเหลือง, น้ำส้ม และซีเรียล
  • Calories (Cal) แคลอรีคือหน่วยวัดค่าพลังงาน ในออสเตรเลียมักนิยมใช้หน่วยกิโลแคลอรี่ เป็นหน่วยวัดค่าพลังงาน หนึ่งแคลอรีมีค่าเท่ากับ 4.18 กิโลจูลส์
  • Carbohydrates คาร์โบไฮเดรตคือน้ำตาลที่ต่อเป็นห่วงโซ่ทั้งสายสั้นหรือสายยาวซึ่งเป็นสิ่งที่มีบทบาทสำคัญในการควบคุมน้ำหนัก และเป็นแหล่งพลังงานสำคัญของร่างกาย ทั้งน้ำตาล แป้ง และเซลลูโลสก็คือคาร์โบไฮเดรต ขนมปัง, ซีเรียล, ข้าว, พาสต้า, อาหารประเภทถั่ว, ผลไม้ และผักบางชนิดล้วนเป็นแหล่งของคาร์โบไฮเดรตชั้นดี
  • Cardiovascular Disease โรคระบบหัวใจและหลอดเลือดคือกลุ่มโรคที่มีความผิดปรกติของหัวใจและ/หรือหลอดเลือด รวมไปถึงเส้นเลือดในสมองแตก, หัวใจวาย, อาการปวดเค้นหัวใจ และความดันโลหิตสูง
  • Chicory ชิคอรี่คือพืชที่นำรากมาอบ บด และใช้ชงเป็นเครื่องดื่มร้อน ชิคอรี่อาจใช้เป็นเครื่องดื่มแทนกาแฟและชาได้ แต่แตกต่างกันตรงที่ชิคอรี่ไม่มีคาเฟอีน
  • Cholesterol คอเลสเตอรอลคือสารไขมันที่มีหน้าที่สำคัญต่อร่างกาย เป็นส่วนสำคัญโครงสร้างเซลล์ และต่อมบางชนิดยังนำไขมันไปใช้เผื่อผลิตฮอร์โมนเพศ คอเลสเตอรัลในเลือดมีสองชนิดได้แก่ HDL (high density liproprotein) หรือคอเลสเตอรอลชนิดดี และ LDL (low density lipoprotein) หรือคอเลสเตอรอลชนิดไม่ดี ระดับ LDL ที่สูงในเลือดสามารถเพิ่มความเสี่ยงต่อโรคระบบหัวใจและหลอดเลือดได้
D
  • Diabetes โรคเบาหวานคือสภาวะที่ร่างกายควบคุมระดับกลูโคส (น้ำตาล) ในกระแสเลือดได้ไม่เป็นปรกติ โรคเบาหวานมีสามประเภท ชนิดที่ 1 (หรือเรียกว่าชนิดต้องพึ่งพาอินซูลิน) ซึ่งร่างกายหยุดสร้างอินซูลิน ชนิดที่ 2 ก็คือ mellitus (หรือเรียกว่าชนิดไม่ต้องพึ่งพาอินซูลิน) ซึ่งร่างกายตอบสนองต่ออินซูลินได้ไม่ดีนัก หรืออินซูลินที่ร่างกายผลิตทำงานได้ไม่ปรกติ และ gestational diabetes ซึ่งก็คือเบาหวานชนิดที่ 2 ที่เกิดขึ้นในช่วงตั้งครรภ์
  • Dietary Fiber  ใยอาหารคือคาร์โบไฮเดรตรูปแบบที่ย่อยยากซึ่งแบ่งออกได้เป็นสามประเภท ได้แก่เส้นใยอาหารที่ละลายน้ำไม่ได้, เส้นใยอาหารที่ละลายน้ำได้ และแป้งที่ย่อยเป็นน้ำตาลได้ยาก ใยอาหารที่ละลายน้ำไม่ได้นั้นจะช่วยให้ลำไส้ทำงานได้ปรกติโดยดูดซึมน้ำไว้ซึ่งจะทำให้สิ่งที่อยู่ในลำไส้อ่อนนุ่มลง มักพบมากในอาหารประเภทข้าวสาลีเช่นขนมปังและซีเรียล แต่ก็พบในถั่ว, เมล็ดพืช และผักด้วยเช่นกัน เส้นใยอาหารชนิดที่ละลายน้ำได้จะพบมากในผลไม้, ผัก, ข้าวโอ๊ต, ถั่วตากแห้ง โดยทำให้การย่อยเป็นไปอย่างช้าๆ และทำให้เราอิ่มได้นานขึ้น ส่วนแป้งที่ย่อยเป็นน้ำตาลในยากก็คือแป้งที่ไม่ย่อยในลำไส้เล็กแต่จะเคลื่อนไปที่ลำไส้ใหญ่ และหมักโดยแบคทีเรียชนิดดีเพื่อผลิตสารที่ช่วยให้ลำไส้ใหญ่ทำงานได้ดี
E
  • Echinacea อิคคาเนเซียคือดอกไม้ที่มักนำมาใช้เป็นสมุนไพรรักษาโรคเพื่อช่วยให้ระบบภูมิคุ้มกันของร่างกายทำงานได้เป็นปรกติ และช่วยลดโอกาสเสี่ยงการติดเชื้อต่างๆ
  • Electrolytes อิเล็คโตรไลท์คือคำที่ใช้เรียกเกลือแร่หรือแร่ธาตุต่างๆ ในร่างกาย อิเล็คโตรไลที่สำคัญในร่างกายก็ได้แก่โซเดียม, โปแตสเซียม, แคลเซียม, แมกนีเซียม, คลอไรด์ และฟอสเฟต แร่ธาตุมีบทบาทสำคัญต่อการเจริญเติบโตและการทำงานของร่างกาย อย่างเช่นการทำงานของระบบประสาทและกล้ามเนื้อ และรักษาระดับสมดุลของของเหลว หากร่างกายสูญเสียของเหลวไปเป็นจำนวนมาก ไม่ว่าจากการอาเจียน ท้องร่วง และเหงื่อออกมากๆ จะทำให้ระดับอิเลคโตรไลท์ในร่างกายไม่สมดุล
  • Emulsifiers อิมัลซิฟายเออร์คือสารปรุงแต่งอาหารที่เติมเข้าไปเพื่อช่วยให้น้ำมันและน้ำผสมเป็นเนื้อเดียวกัน ตัวอย่างของอิมัลซิฟายเออร์ที่ใช้กันบ่อยๆ ในอาหารก็คือเลซิตินจากถั่วเหลือง
  • Energy ทั้งคาร์โบไฮเดรต, ไขมัน, โปรตีน, ใยอาหาร และแอลกอฮอล์ล้วนแล้วแต่ผ่านกระบวนการย่อยให้กลายเป็นพลังงานสำหรับร่างกาย หน่วยวัดพลังงานอาหารก็คือกิโลแคลอรี่ (Kcal) ร่างกายของเราต้องการพลังงานเพื่อให้ระบบต่างๆ ของร่างกาย เช่นระบบการหายใจและระบบการย่อยอาหาร ให้ทำงานได้ราบรื่น และยังต้องการพลังงานเพื่อให้เราทำกิจวัตรประจำวัน รวมถึงกิจกรรมที่ต้องใช้แรงได้เป็นปรกติ ความต้องการพลังงานในแต่ละวันของคนเรานั้นแตกต่างกันออกไป ขึ้นอยู่กับอายุ, เพศ, น้ำหนัก และกิจกรรมที่ทำ ระดับพลังงานที่ร่างกายต้องการในแต่ละวันสำหรับวัยผู้ใหญ่อยู่ที่ 2,000 กิโลแคลอรี่
  • Essential Fatty Acids กรดไขมันที่จำเป็นคือไขมันที่ร่างกายต้องการเพื่อการทำงานและการเจริญเติบโต แต่เนื่องจากร่างกายไม่สามารถผลิตไขมันชนิดนี้ได้ เราจึงต้องได้รับจากการรับประทานเท่านั้น กรดไขมันที่จำเป็นนี้มีสองชนิด ได้แก่กรดไลโนเลอิค (กรดไขมันโอเมก้า 6) และกรดอัลฟาไลโนเลนิค (กรดไขมันโอเมก้า 3) อาหารที่อุดมไปด้วยกรดไลโนเลอิคได้แก่น้ำมันที่มีกรดไขมันไม่อิ่มตัว, เนยเทียม, ถั่วบางประเภท (เช่นวอลนัท) และเมล็ดธัญพืช (เช่นงา) ส่วนกรดไลโนเลนิคก็พบมากในน้ำมันคาร์โนลา, เมล็ดแฟล็กซ์ และวอลนัท
F
  • Fat ไขมันคือสารอาหารหลักที่ร่างกายต้องการ อย่างเช่นเป็นฉนวนสำหรับร่างกาย, ปกป้องอวัยวะต่างๆ เป็นแหล่งสะสมพลังงาน และเป็นแหล่งวิตามินชนิดที่ละลายในไขมัน (วิตามินเอ, วิตามินดี, วิตามินอี และวิตามินเค) ประเภทของไขมันก็ได้แก่ไขมันอิ่มตัว, ไขมันไม่อิ่มตัวเชิงเดี่ยว, ไขมันไม่อิ่มตัว และไขมันทรานส์ นักโภชนาการแนะนำให้รับประทานไขมันอิ่มตัวและไขมันทรานส์ในปริมาณจำกัด
  • Flavonoids ฟลาโวนอยด์ก็คือโพลีฟีนอลชนิดหนึ่ง ซึ่งเป็นกลุ่มสารพฤกษเคมีที่มีโครงสร้างทางเคมีทำหน้าที่ต่อต้านอนุมูลอิสระในร่างกาย อาหารที่อุดมไปด้วยฟลาโวนอยด์ก็คือไวน์, องุ่น, แอปเปิ้ล, ชา, หัวหอม และผลไม้ตระกูลเบอร์รี่ ผักและผลไม้ทั่วๆ ไปก็มีฟลาโวนอยด์เช่นกันแต่ในปริมาณที่ไม่มากนัก
  • Flavours สารปรุงแต่งกลิ่นรสก็คือสารปรุงแต่งอาหารชนิดหนึ่งที่นิยมเติมลงในอาหารเพื่อให้มีรสชาติตามที่ต้องการ สารปรุงแต่งกลิ่นรสมีสามแบบ ได้แก่ สารปรุงแต่งชนิดที่มีกลิ่นรสจากธรรมชาติ, สารปรุงแต่งชนิดเลียนกลิ่นธรรมชาติ และสารปรุงแต่งกลิ่นรสชนิดสังเคราะห์
  • Fluids ของเหลวในที่นี้หมายถึงปริมาณของของเหลวที่เราต้องการในแต่ละวัน ร่างกายของเรามีส่วนประกอบหลักจากของเหลว ดังนั้นเราจึงต้องทนแทนของเหลวที่สูญเสียออกไปให้สม่ำเสมอ ปริมาณของของเหลวที่ต้องการในแต่ละวันนั้นขึ้นอยู่กับปัจจัยหลายอย่าง เช่นอายุ, สภาพแวดล้อม และระดับของกิจกรรมที่ทำ เราได้รับของเหลวทั้งจากอาหารที่รับประทาน และเครื่องดื่มที่เราดื่มเข้าไป
  • Folate โฟเลตก็คือวิตามินบีที่มีอยู่ตามธรรมชาติในผักใบเขียว, ผลไม้ (เช่นกล้วยและส้ม) และถั่วประเภทฝัก ซีเรียลบางชนิดก็มีการเติมโฟเลตลงไป ร่างกายต้องการโฟเลตเพื่อการพัฒนาของเซลล์เป็นไปอย่างปรกติ การรับประทานโฟเลตให้เพียงพอในช่วงก่อนตั้งครรภ์ และในช่วงสามเดือนแรกระหว่างตั้งครรภ์ก็ช่วยลดความเสี่ยงของการที่ตัวอ่อนพัฒนาผิดปรกติ
  • Free Radicals อนุมูลอิสระคือสารประกอบที่เกิดปฏิกิริยารุนแรงซึ่งร่างกายผลิตขึ้นจากกระบวนการเผาผลาญ และเกิดจากปัจจัยภายนอกเช่นการสูบบุหรี่, มลภาวะ และการสัมผัสแสงแดด ถ้าหากเราไม่ควบคุมระดับของอนุมูลอิสระในร่างกายให้ดี พวกมันสามารถสร้างความเสียหายให้กับเซลล์ได้ สารต้านอนุมูลอิสระที่ร่างกายผลิตขึ้นหรือที่เราได้รับจากการรับประทานนั้นสามารถช่วยควบคุมระดับของอนุมูลอิสระได้
  • Fructose ฟรุคโตสคือน้ำตาลโมเลกุลเดี่ยวที่มีอยู่ตามธรรมชาตในผลไม้และน้ำผึ้ง จัดว่าเป็นน้ำตาลที่มีความหวานตามธรรมชาติมากที่สุด กลูโคสและฟรุคโตสที่รวมตัวกันก็จะกลายเป็นน้ำตาลทรายซูโครสที่เรารู้จักกันทั่วไป อาหารแปรรูปบางชนิดก็มีการนำฟรุคโตสไปใช้เป็นสารเพิ่มความหวาน
G
  • Glucose กลูโคสคือน้ำตาลโมเลกุลเดี่ยว คาร์โบไฮเดรตในอาหารที่ผ่านการย่อยแล้วก็จะกลายเป็นกลูโคส เซลล์ในร่างกายนำกลูโคสมาใช้เป็นพลังงานให้แก่ร่างกาย บางครั้งคำว่ากลูโคสในเลือดและน้ำตาลในเลือดก็หมายความเหมือนกัน
  • Gluten กลูเต็นคือโปรตีนประเภทหนึ่งที่พบในพืชประเภทข้าวสาลี, ข้าวบาร์เลย์, ข้าวไรย์ และข้าวโอ๊ต แต่ก็มีบางคนที่แพ้กลูเต็นเช่นกัน
  • Glycemic Index (GI) ค่าดัชนีน้ำตาล (GI) ก็คือค่าของคาร์โบไฮเดรตในอาหารที่ทำปฏิกิริยากับระดับน้ำตาลในเลือด อาหารประเภทคาร์โบไฮเดรตที่มีค่า GI ต่ำแสดงว่าร่างกายจะดูดซึมอย่างช้าๆ และทำให้ระดับน้ำตาลในเลือดค่อยๆ เพิ่มขึ้นอย่างช้าๆ ส่วนอาหารประเภทคาร์โบไฮเดรตที่มีค่า GI สูง ร่างกายจะดูดซึมเร็วและทำให้ระดับน้ำตาลในเลือดพุ่งสูงขึ้นอย่างรวดเร็ว อาหารที่มีค่า GI น้อยกว่า 55 นั้นจัดว่าอยู่ในระดับต่ำ ส่วนค่า GI 56 -69 คือระดับปานกลาง และถ้าสูงกว่า 70อาหารที่ค่า GI สูง เราควรรับประทานอาหารที่มีค่า GI ต่ำซึ่งจัดเป็นอาหารที่ดีต่อสุขภาพสำหรับทุกคน โดยเฉพาะผู้ป่วยโรคเบาหวานประเภทสอง เพื่อควบคุมระดับน้ำตาลในเลือดให้คงที่ แต่อาหารที่มีค่า GI สูงก็อาจเหมาะกับนักกีฬา เพราะเป็นแหล่งกลูโคสที่ให้พลังงานแก่กล้ามเนื้อ ค่า GI มักนำไปใช้เปรียบเทียบอาหารที่มีคาร์โบไฮเดรตเป็นส่วนประกอบคล้ายๆ กัน อย่างเช่นเปรียบเทียบขนมปังก้อนนี้กับอีกก้อนหนึ่ง หรือซีเรียลยี่ห้อนี้กับยี่ห้อนั้น เป็นต้น
  • Glycemic Load (GL) ค่า Glycemic Load นั้นคล้ายๆ กับค่าดัชนีน้ำตาล (GI) ซึ่งก็คือวิธีวัดค่าคาร์โบไฮเดรตที่อยู่ในอาหาร แต่ค่า Glycemic Load นั้นเป็นการวัดค่า GI ในอาหาร และปริมาณของคาร์โบไฮเดรตที่อยู่ในอาหารรวมกัน 100xGL= (GI X ปริมาณคาร์โบไฮเดรตในอาหารต่อหนึ่งหน่วย (กรัม)) ค่า GL ตั้งแต่ 20 ขึ้นไปจัดว่าเป็นค่า GL ที่สูง ถ้าอยู่ในระดับ 11 – 19 คือค่า GL ปานกลาง และตั้งแต่ 10 ลงไป คือค่า GL ระดับต่ำ เพราะปริมาณของคาร์โบไฮเดรตในอาหารนั้นมีความสำคัญ ค่า GL จึงเป็นวิธีที่ดีที่สุดในการวัดค่าการเปลี่ยนแปลงของระดับน้ำตาลในเลือดของอาหารแต่ละชนิด
H
  • Haem iron แหล่งอาหารที่มีธาตุเหล็กมีสองประเภท ได้แก่ ชนิดที่มีธาตุเหล็กประกอบฮีมซึ่งพบในผลิตภัณฑ์จากเนื้อสัตว์ เช่น เนื้อแดงและเครื่องในสัตว์ ส่วนเนื้อสัตว์สีขาวอย่างปลาและไก่ก็มีธาตุเหล็กประกอบฮีมเช่นกันแต่มีในปริมาณน้อยกว่าเนื้อแดง จำง่ายๆ ว่ายิ่งเนื้อสัตว์ที่มีสีแดงมากเท่าไหร่ก็จะมีธาตุเหล็กฮีมมากขึ้น ร่างกายของเราสามารถดูดซึมธาตุเหล็กจากแหล่งอาหารเหล่านี้ได้ดีกว่าจากพืชผัก
  • Halal Foods อาหารฮาลาลคืออาหารที่ปราศจากส่วนผสมที่ขัดต่อหลักศาสนาอิสลาม เป็นอาหารที่ผ่านการแปรรูป ปรุง ผลิต และบรรจุหีบห่อ และ/หรือใช้อุปกรณ์ทำครัวที่ทำความสะอาดตามหลักศาสนาอิสลาม 
  • Hydrogenated Fats ไขมัน Hydrogenated คือไขมันจากพืชที่ผ่านการเปลี่ยนแปลงกระบวนการเคมีโดยการเติมไฮโดรเจนเข้าไปเพื่อให้ไขมันนั้นเก็บรักษาได้นานขึ้น การที่แปรรูปจากน้ำมันที่เป็นของเหลวให้กลายเป็นไขมันที่แข็งตัวมากขึ้นก็เพราะให้มันคงรูปได้ดีขึ้น เหมาะสำหรับนำมาใช้ประกอบอาหาร อาหารที่มีไขมัน Hydrogenated ก็อย่างเช่นเนยเทียมสำหรับทำอาหารฐ บิสกิต, เค้ก, พาย และข้าวโพดคั่ว รวมถึงน้ำมันสำหรับทอดที่วางขายอีกมาก
I
  • Insoluble Fiber เส้นใยอาหารชนิดที่ไม่ละลายน้ำคือใยอาหารอีกประเภทหนึ่งที่มักพบในซีเรียล, เปลือกนอกของผลไม้และผักบางชนิด, ถั่ว, เมล็ดธัญพืช และขนมปังที่มีใยอาหารสูง เส้นใยอาหารชนิดนี้ช่วยดูดซึมน้ำในลำไส้ใหญ่ ซึ่งช่วยให้กากใยในลำไส้อ่อนตัวขึ้น และระบบขับถ่ายเป็นปรกติ
  • Insulin อินซูลินคือฮอร์โมนที่ผลิตโดยตับอ่อนซึ่งตอบสนองต่ออาหารที่เรารับประทานเข้าไป หน้าที่หลักของอินซูลินคือการนำกลูโคสจากเลือดไปแจกจ่ายให้กับเซลล์ในร่างกาย เพื่อที่เซลล์จะเอากลูโคสนั้นไปเปลี่ยนเป็นพลังงาน
  • Inulin อินนูลินคือเส้นใยอาหารที่ละลายน้ำได้ซึ่งพบในพืชบางชนิด อินนูลินมีประโยชน์ต่อร่างกายของเราเพราะช่วยให้แบคทีเรียชนิดดีในระบบลำไส้เจริญเติบโตได้ดี เพราะเหตุนี้เองอินนูลินจึงเป็นที่รู้จักกันในชื่อของโปรไบโอติก
  • Iron ธาตุเหล็กคือแร่ธาตุที่ร่างกายใช้เพื่อผลิตฮีโมโกลบิน ซึ่งเป็นส่วนหนึ่งของเม็ดเลือดแดงที่ช่วยนำออกซิเจนไปหล่อเลี้ยงร่างกาย อาหารที่อุดมด้วยธาตุเหล็กก็มีทั้งเนื้อแดง, เนื้อสัวต์ปีก, ถั่วประเภทผัก, ผักใบเขียว และขนมปังและซีเรียลโฮลเกรน การขาดธาตุเหล็กหรือหากมีปัญหาในการดูดซึมธาตุเหล็กสามารถนำไปสู่ภาวะโลหิตจางจากการขาดแคลนธาตุเหล็กได้
K
  • Kilocalery กิโลแคลอรี่ (Kcal) คือหน่วยวัดพลังงาน ในประเทศออสเตรเลียจะใช้หน่วยกิโลแคลอรี่เป็นหน่วยวัดมาตรฐาน แต่ก็มีการใช้หน่วยแคลอรีเช่นกัน 4.18 กิโลแคลอรี่เท่ากับ 1 แคลอรี
L
  • Lactose แลคโตสคือน้ำตาลตามธรรมชาติที่พบในนม มันคือสารประกอบคาร์โบไฮเดรตจำพวกน้ำตาลที่ประกอบด้วยน้ำตาลสองชนิดมารวมกัน (กลูโคสและกาแล็คโตส)
M
  • Macronutrient คาร์โบไฮเดรต, ไขมัน, โปรตีน และแอลกอฮอลล้วนเป็นสารอาหารหลักที่ให้พลังงานแก่ร่างกาย เราต้องการสารอาหารหลัก (ยกเว้นแอลกอฮอล) เป็นปริมาณจำนวนมากกว่าพวกวิตามินและเกลือแร่ ซึ่งเรียกว่าเป็นสารอาหารรอง
  • Maltodextrin มอลโตเด็กซ์ตรินคือคาร์โบไฮเดรตประเภทน้ำตาลโมเลกุลเดี่ยว (เป็นน้ำตาลลูกโซ่) ซึ่งทำจากข้าวโพดหรือแป้งข้าวสาลี โดยนำมาใช้เป็นสารปรุงแต่งอาหารในอาหารที่ขายในท้องตลาดมากมาย อย่างเช่นพวกลูกกวาด, ของว่าง และของหวานต่างๆ
  • Micronutrient สารอาหารรองคือสารอาหารที่จำเป็นประเภทวิตามินและแร่ธาตุซึ่งร่างกายของเราต้องการในปริมาณไม่มากนัก ร่างกายต้องการสารอาหารเหล่านี้เพื่อรักษาสุขภาพให้ดีและทำงานเป็นปรกติ
  • Minerals แร่ธาตุคือสารประกอบที่มีอยู่ในหินและแร่เหล็กต่างๆ พืชจะดูดซึมแร่ธาตุผ่านทางดิน ส่วนพวกสัตว์ได้แร่ธาตุจากการกินพืช หรือกินสัตว์ตัวอื่น แร่ธาตุที่ร่างกายต้องการก็รวมไปถึงแคลเซียม, ฟอสฟอรัส, แม็กนีเซียม, ซัลเฟอร์, โปแตสเซียม, คลอไรด์ และโซเดียม ส่วนแร่ธาตุอณูเล็กคือแร่ธาตุที่ร่างกายต้องการในปริมาณไม่มาก เช่นธาตุเหล็ก, ซิงค์, ไอโอดีน, ซีลีเนียม, คอปเปอร์, แมงกานีส, ฟลูออไรด์, โครเมียม และโมลิบดีนัม
  • Monosodium Glutamate (MSG) โมโนโซเดียมกลูตาเมตมีอยู่ตามธรรมชาติในอาหารบางประเภทเช่นชีสที่หมักบ่มนาน, มะเขือเทศ, เห็ด และซอสถั่วเหลือง MSG ยังทำหน้าที่ช่วยให้รสชาติกลมกล่อมขึ้น และบางครั้งก็ช่วยเติมรสชาติให้ซุป, ซอส และน้ำสต็อก โดยจะอยู่ในชื่อ “สารปรุงแต่งรส (โมโนโซเดียมกลูตาเมต)” หรือ “สารปรุงแต่งรส (621)”
  • Monounsaturated Fat ไขมันไม่อิ่มตัวเชิงเดี่ยวจัดว่าเป็น “ไขมันชนิดดี” และมักพบในอะโวคาโด, อาหารประเภทถั่วอย่างถั่วลิสง, อัลมอนด์, เมล็ดมะม่วงหิมพานต์ และแมคคาเดเมีย และน้ำมันอย่างน้ำมันมะกอกและน้ำมันคาโนลา
N
  • Non-haem iron ธาตุเหล็กที่พบในพืชผักเป็นที่รู้จักกันในชื่อของธาตุเหล็กที่ไม่มีฮีม โดยมักพบในขนมปังและซีเรียลที่ไม่ขัดสี, ถั่วประเภทฝัก, ถั่วเปลือกแข็งและเมล็ดธัญพืช และผักบางชนิดอย่างผักโขม ร่างกายจะดูดซึมธาตุเหล็กที่ไม่ฮีมนี้ได้ไม่ดีเท่ากับธาตุเหล็กที่พบในผลิตภัณฑ์จากเนื้อสัตว์ การรับประทานอาหารที่อุดมด้วยวิตามินซีและธาตุเหล็กชนิดที่ไม่มีฮีมสามารถช่วยเพิ่มการดูดซึมธาตุเหล็กให้ร่างกายได้
O
  • Omega 3 ไขมันโอเมก้า 3 คือกรดไขมันไม่อิ่มตัวเชิงซ้อนที่สำคัญ ที่ว่าสำคัญก็เพราะร่างกายไม่สามารถผลิตไขมันชนิดนี้ได้ และได้รับจากอาหารเท่านั้น ไขมันโอเมก้า 3 แบ่งได้เป็น 3 ประเภท ได้แก่ docosahexaenoic acid (DHA), eicosapentaenoic acid (EPA) และ αlpha-linolenic acid (ALA) กล้ามเนื้อในร่างกายของเราสามารถนำทั้ง EPA และ DHA ไปใช้ได้ทันที ส่วน ALA นั้น ร่างกายจะเปลี่ยนให้เป็น EPA และ DHA แต่มีเพียง 15% ของ ALA เท่านั้นที่สามารถเปลี่ยนไปเป็น EPA และ DHA ได้
P
  • Pectin เพ็คตินพบตามธรรมชาติในผลไม้และมักใช้ในอาหารเพื่อทำให้อาหารข้นขึ้นหรือคงสภาพได้นานขึ้น ยาอมแก้เจ็บคอก็ใส่เพ็คตินเพื่อบรรเทาอาการระคายคอ
  • Phytochemical สารพฤกษเคมีหรือไฟโตนิวเทรียนท์ในความหมายกว้างๆ คือสารเคมีหรือสารอาหารที่ได้จากพืชผัก ซึ่งมีหลายร้อยชนิด และยังมีอีกมากที่รอให้เราค้นพบ เชื่อกันว่าสารพฤกษเคมีเหล่านี้มีประโยชน์ต่อสุขภาพร่างกาย สารที่มีการพูดถึงกันมากก็คือสารต้านอนุมูลอิสระอย่างเช่นฟลาโวนอยด์ในผักและผลไม้, ไลโคปีนในมะเขือเทส และโพลีฟีนอลในเมล็ดกาแฟและเมล็ดโกโก้ แพลนท์สเตอรอลก็คือสารพฤกษเคมีอีกชนิดหนึ่ง
  • Phytoestrogens ไฟโตเอสโทรเจนคือสารประกอบตามธรรมชาติในพืชที่มีโครงสร้างคล้ายคลึงกับฮอร์โมนเอสโทรเจนในมนุษย์ ไฟโตเอสโทรเจนชนิดที่พบมากคือไอโซฟลาโวนซึ่งพบในถั่วเหลืองและลิกแนนจากเมล็ดฝ้าย ไฟโตเอสโทรเจนทำหน้าที่คล้ายเอสโทรเจนในร่างกายของเรา และเชื่อว่าช่วยบรรเทาอาการหลังหมดประจำเดือน และยังมีประโยชน์ต่อร่างกายอีกหลายประการ
  • Phytosterols ไฟโตสเตอรอลคือสารที่มีโครงสร้างคล้ายคอเลสเตอรอล และมีอยู่ในอาหารอย่างเช่นน้ำมันพืช, ผลไม้ และถั่วชนิดต่างๆ ตามธรรมชาติในปริมาณที่ไม่มากนัก ถ้าหากบริโภคอาหารอย่างเนยเทียมที่เสริมไฟโตสเตอรอลเป็นประจำ ก็สามารถช่วยลดระดับของคอเลสเตอรอลได้ด้วยการลดการดูดซึมของคอเลสเตอรอลลง 
  • Polyphenols โพลีฟีนอลพบตามธรรมชาติในสารเคมีจากพืช อย่างเช่นฟลาโวนอยด์, คาเทชิน, ไอโซฟลาโวนอยด์, ลิกแนน และแอนโตไซอานิน โพลีฟีนอลก็คือสารต้านอนุมูลอิสระซึ่งเชื่อกันว่าช่วยปกป้องร่างกายจากกระบวนการออกซิเดชัน และมักพบมากในผักและผลไม้บางชนิด, ชา, กาแฟ, ถั่วเหลือง, เมล็ดธัญพืช, ถั่วเลนทิล, ดาร์กช็อคโกแล็ตบางชนิด และไวน์แดง 
  • Polyunsaturated Fat กรดไขมันไม่อิ่มตัวเชิงซ้อนคือ “ไขมันชนิดดี” ซึ่งแบ่งเป็นสองชนิด ได้แก่ โอเมก้า 3 และโอเมก้า 6 กรดไขมันโอเมก้า 6 มักพบในน้ำมันดอกทานตะวัน, เนยเทียมบางชนิด, ถั่วบางชนิด (เช่นวอลนัท), เมล็ดธัญพืชบางชนิด (เช่นงา และเมล็ดดอกทานตะวัน) และอาหารประเภทถั่วมีฝัก ส่วนกรดไขมันโอเมก้า 3 พบในน้ำมันปลา เช่นปลาแมคเคอเรล, ปลาซาร์ดีน, ปลาแซลมอน และปลาทูน่า รวมถึงน้ำมันคาโนลาและน้ำมันถั่วเหลือง
  • Potassium โปแทสเซียมคือแร่ธาตุที่มีบทบาทสำคัญสำหรับระบบประสาท และมักพบในผัก, ผลไม้, นม และเนื้อสัตว์
  • Prebiotic พรีไบโอติกคือสารที่ช่วยกระตุ้นการเจริญเติบโตของแบคทีเรียที่มีประโยชน์สำหรับระบบทางเดินอาหาร พรีไบโอติก โดยการเป็นแหล่งอาหารให้กับแบคทีเรียในระบบทางเดินอาหาร ตัวอย่างของพรีไบโอติกก็คืออินูลิน และฟรุตโตโอลิโกแซคคาไรด์
  • Preservatives วัตถุกันเสียคือสารปรุงแต่งอาหารประเภทหนึ่งที่ช่วยป้องกันการบูดเสียของอาหารจากจุลินทรีย์ และช่วยถนอมอาหารให้คงอยูได้นานยิ่งขึ้น
  • Probiotics โปรไบโอติกคือแบคทีเรียที่ช่วยกระตุ้นการเจริญเติบโตของแบคทีเรียชนิดดีมีประโยชน์ในระบบลำไส้ อาหารที่มีโปรไบโอติกก็คือโยเกิร์ตและเครื่องดื่มนมเปรี้ยว การรักษาความสมดุลของแบคทีเรียชนิดดีในระบบลำไส้นั้นช่วยให้ระบบการย่อยอาหารของเราทำงานได้ดียิ่งขึ้น
  • Protein โปรตีนคือสารอาหารจำเป็นที่ร่างกายนำไปใช้เพื่อการเจริญเติบโต เสริมสร้างความแข็งแรงให้เซลล์ และให้พลงงานแก่ร่างกาย โปรตีนนั้นพบทั้งในอาหารประเภทพืชและสัตว์ แหล่งอาหารที่มีโปรตีนมากก็คือเนื้อสัตว์, ไข่, ผลิตภัณฑ์จากนม, ถั่วและเมล็ดธัญพืช, ถั่วตากแห้ง และถั่วเลนทิล
R
  • Recommended Dietary Intake (RDI) ค่าสารอาหารที่แนะนำให้บริโภคในประจำวัน (RDI) คือปริมาณของสารอาหารที่คนแต่ละช่วงอายุและวัยควรรับประทานในแต่ละวัน เป็นปริมาณสารอาหารที่ร่างกายต้องการอย่างเพียงพอสำหรับคนสุขภาพดีทั่วๆ ไป
  • Resistant Starch Resistant starch คือสารอาหารประเภทแป้งที่ถูกหมักโดยจุลินทรีย์ในลำไส้ใหญ่ การหมักบ่มนี้ให้ผลลัพธ์ใกล้เคียงกับเส้นใยอาหารซึ่งช่วยให้ลำไส้ทำงานได้ดี อาหารประเภทถั่ว, ธัญพืชไม่ขัดสี, ขนมปังและซีเรียลบางชนิด และกล้วยห่ามๆ ล้วนเป็นแหล่งอาหารที่อุดมด้วยแป้งชนิดนี้
S
  • Saccharide แซคคาไรด์คือศัพท์ทางเทคนิคที่ใช้เรียกน้ำตาล แซคคาไรด์เป็นโครงสร้างพื้นฐานของคาร์โบไฮเดรต โมโนแซคคาไรด์คือน้ำตาลโมเลกุลเดี่ยว ส่วนไดแซคคาไรด์คือน้ำตาลโมเลกุลคู่ และโพลีแซคคาไรด์คือน้ำตาลโมเลกุลเดี่ยวที่รวมตัวกันเป็นสายยาว
  • Satiety ความอิ่มคือความรู้สึกทางกายภาพที่พึงพอใจหรืออิ่มหลังมื้ออาหาร
  • Saturated Fat ไขมันอิ่มตัวมักรู้จักกันในชื่อของ “ไขมันไม่ดี” เพราะมันส่งผลกระทบต่อระดับคอเลสเตอรอลในเลือด ไขมันอิ่มตัวโดยปรกติจะอยู่ในรูปของแข็งในอุณหภูมิห้อง และเป็นไขมันที่พบมากในเนื้อสัตว์และผลิตภัณฑ์จากนม และพบในพืชอย่างเช่นปาล์มและน้ำมันมะพร้าว
  • Sodium โซเดียมคือแร่ธาตุที่เป็นส่วนประกอบสำคัญของเกลือ แม้ว่าร่างกายของเราต้องการโซเดียมจำหนวนหนึ่งเพื่อให้ทำงานได้ปรกติ แต่การรับประทานโซเดียมมากไปจะส่งผลกระทบต่อความดันโลหิตได้
  • Soluble Fiber เส้นใยอาหารที่ละลายน้ำได้คือใยอาหารที่เชื่อว่าช่วยลดระดับของคอเลสเตอรอลได้ เบต้ากลูแคนคือใยอาหารชนิดละลายน้ำที่พบมากในข้าวโอ๊ตและบาร์เลย์ ส่วนผักและผลไม้, ถั่วตากแห้ง และเลนทิลก็เป็นแหล่งอาหารที่อุดมด้วยใยอาหารชนิดนี้เช่นกัน
  • Sugar Alcohols น้ำตาลแอลกอฮอลคือน้ำตาลที่มีสารประกอบทางเคมีของแอลกอฮอลร่วมอยู่ด้วย ทั้งไอโซมอลต์, ซอร์บิทอล, แลคติทอล, มอลติทอล, แมนนิทอล, ไซลีทอล และอีริทริทอล ก็คือน้ำตาลแอลกอฮอล เป็นน้ำตาลที่พบตามธรรมชาติในผักและผลไม้บางชนิด แต่ส่วนมากมักเป็นสิ่งที่มนุษย์สร้างขึ้นเองมากกว่า น้ำตาลแอลกอฮอลให้พลังงานที่ต่ำกว่าน้ำตาลธรรมดา และมักใช้ในอาหารประเภท “ปราศจากน้ำตาล” เช่นอมยิ้ม, หมากฝรั่ง และยาอมแก้เจ็บคอ เนื่องจากร่างกายของเราไม่สามารถย่อยสลายน้ำตาลแอลกอฮอลได้ การรับประทานอาหารที่มีน้ำตาลชนิดนี้มากไปอาจส่งผลต่อระบบการระบายอาหารได้
  • Sugars น้ำตาลหรือที่เรียกว่าแซคคาไรด์คือรูปแบบของคาร์โบไฮเดรตที่เล็กที่สุด ร่างกายของเราจะย่อยสลายอาหารที่มีคาร์โบไฮเดรตให้กลายเป็นน้ำตาลโมเลกุลเดี่ยวเพื่อให้ร่างกายดูดซึมสู่กระแสเลือดได้ น้ำตาลที่เกิดตามธรรมชาติได้แก่ฟรุคโตส (พบมากในผลไม้) และแลคโตสในน้ำนม ส่วนกลูโคสจะพบในผลไม้บางชนิดและน้ำผึ้ง และซูโครสจะพบในน้ำตาลจากอ้อยและหัวบีต
T
  • Trans fat ไขมันทรานส์มาจากสองแหล่ง อย่างแรกคือไขมันทรานส์ตามธรรมชาติ ที่พบปริมาณไม่มากในอาหารประเภทเนื้อสัตว์บางชนิด เช่นเนื้อวัวและผลิตภัณฑ์จากนม ส่วนอย่างที่สองคือไขมันทรานส์ที่เกิดจากน้ำมันพืชชนิดเหลวผ่านกระบวนการแปรรูปด้วยการเติมไฮโดรเจนลงไป เพื่อให้น้ำมันคงรูปได้นานขึ้น ไขมันที่เกิดจากการแปรรูปด้วยไฮโดรเจนนี้มักใช้ในอุตสาหกรรมอาหารเพราะช่วยให้เก็บรักษาให้อาหารคงอยู่ได้นาน รวมถึงให้รสชาติ รูปร่าง และเนื้อสัมผัสของอาหารเป็นที่น่าดึงดูดมากขึ้น ผลิตภัณฑ์อาหารที่มีไขมันทรานส์ก็คือพวกเนยเทียม, บิสกิต, ขนมปังกรอบ, อาหารประเภททอด, ขนมอบประเภทเพสตรี, อาหารประเภทอบ และอาหารแปรรูปอื่นๆ ที่ใช้น้ำมันที่เติมไฮโดรเจนประกอบอาหาร
  • Trans Fat ไขมันทรานส์พบในอาหารจากสัตว์อย่างเช่นผลิตภัณฑ์จากนมแต่พบในปริมาณไม่มากนัก อาหารอบและทอดที่วางขายทั่วไปก็เป็นแหล่งสำคัญที่พบไขมันทรานส์ ขึ้นอยู่กับชนิดของไขมันที่ใช้ในการผลิต ไขมันทรานส์คือไขมันชนิดไม่อิ่มตัวที่ผ่านการแปรรูปผ่านกระบวนการการเติมไฮโดรเจน และจัดว่าเป็นไขมันชนิด “ไม่ดี” เช่นเดียวกับไขมันชนิดอิ่มตัว เนื่องจากส่งผลกระทบต่อระดับคอเลสเตอรอลในเลือด
V
  • Vegetarian มังสวิรัติหมายถึงการรับประทานอาหารที่มาจากพืชผักเป็นหลัก มังสวิรัติมีหลากหลายประเภท แตกต่างกันตามระดับของอาหารจากสัตว์ที่รับประทาน ตัวอย่างเช่น มังสวิรัติแบบวีแกนจะไม่มีอาหารที่ทำจากสัตว์เลย มังสวิรัตินมจะรับประทานผลิตภัณฑ์ที่ทำจากนม และมังสวิรัติไข่และนมจะรับประทานผลิตภัณฑ์จากนม, น้ำผึ้ง และไข่ แต่หลีกเลี่ยงเนื้อวัว เนื้อไก่ และปลา
  • Vitamin A วิตามินเอพบมากในอาหารประเภทเนื้อสัตว์ รวมถึงตับ, ผลิตภัณฑ์จากนม, ไข่แดง และปลาที่มีไขมันมากบางชนิด ผักและผลไม้สีส้มและเหลือง (เช่นมะม่วงและแครอท) จะมีแคโรทีนอยด์อย่างเช่นเบต้าแคโรทีน ซึ่งร่างกายจะเปลี่ยนเป็นวิตามินเอ วิตามินเอมีหน้าที่สำคัญต่อร่างกายในเรื่องของการมองเห็นและการเจริญเติบโต ส่วนเบต้าแคโรทีนทำหน้าที่คล้ายสารต้านอนุมูลอิสระเพื่อปกป้องร่างกายจากการทำลายของอนุมูลอิสระ
  • Vitamin B Group วิตามินในกลุ่มบีได้แก่ วิตามิน B1 (ไทอามีน), B2 (ไรโบฟลาวีน), B3 (ไนอาซีน), B5 (กรดแพนโทเตนิค), B6, B12 (โฟเลตและไบโอติน) มักพบในเนื้อวัว, เนื้อสัตว์ปีก, ผลิตภัณฑ์ธัญพืชไม่ขัดสี, ผลิตภัณฑ์จากนม, ไข่, ผักใบเขียว, ถั่ว และเมล็ดพืช วิตามินบีมีหน้าที่สำคัญในการควบคุมระบบการเผาผลาญของร่างกาย
  • Vitamin C วิตามินซีมีส่วนช่วยให้เนื้อเยื่อที่เชื่อมต่อกันในร่างกายอย่างเช่นผิวหนังและกระดูกอ่อนแข็งแรง วิตามินซีนับว่าเป็นสารต้านอนุมูลอิสระชนิดหนึ่ง และพบมากในผักและผลไม้ทั่วไป
  • Vitamin E หน้าที่หลักของวิตามินอีคือทำหน้าที่เป็นสารต้านอนุมูลอิสระ ช่วยปกป้องส่วนต่างๆ ของร่างกายจากการเกิดอนุมูลอิสระซึ่งเป็นผลเสียต่อร่างกาย รวมถึงช่วยรักษาสมดุลให้เยื่อหุ้มเซลล์ด้วยการปกป้องเซลล์จากความเสียหายของอนุมูลอิสระ แหล่งอาหารที่อุดมด้วยวิตามินอีได้แก่อัลมอนด์, ถั่วลิสง และน้ำมันถั่วเหลือง
  • Vitamins วิตามินคือกลุ่มสารอาหารรองที่มีความสำคัญต่อกระบวนการต่างๆ ของร่างกาย วิตามินสามารถแบ่งได้เป็นสองกลุ่ม ได้แก่วิตามินที่ละลายในไขมันและวิตามินที่ละลายในน้ำ วิตามินที่ละลายในไขมันได้แก่วิตามินเอ, วิตามินดี, วิตามินอี และวิตามินเค ส่วนกลุ่มวิตามินบี (บี1, บี2, บี3, บี12), โฟเลต, ไบโอติน และวิตามินซีคือวิตามินที่ละลายในน้ำ
W
  • Wholegrains ธัญพืชที่ไม่ขัดสีคือเมล็ดของพืชอย่างข้าวสาลี, ข้าวไรย์, ข้าวโพด, ข้าวบาร์เลย์, ข้าวเจ้า และข้าวโอ๊ต ซึ่งเป็นแหล่งสะสมสารอาหารที่พืชต้องการ อาหารประเภทธัญพืชไม่ขัดสีประกอบไปด้วยส่วนประกอบของเมล็ดพืชสามอย่าง ได้แก่รำข้าว (เปลือกชั้นนอก), จมูกข้าว (เปลือกชั้นกลาง) และเอ็นโดสเปิร์มหรืออาหารสำหรับต้นอ่อนของพืช (เปลือกชั้นในสุด)
Z
  • Zinc สังกะสีคือแร่ธาตุที่มีบทบาทสำคัญต่อการทำงานระบบต่างๆ ของร่างกาย รวมถึงการสมานแผล และพบมากในหอยนางรม, เนื้อวัว และขนมปังและซีเรียลธัญพืชไม่ขัดสี