Sort by
Sort by

ภัยร้ายต่อสุขภาพผู้สูงอายุ

ภัยร้ายต่อสุขภาพผู้สูงอายุ
เมื่ออายุเพิ่มขึ้น ย่อมนำมาซึ่งปัญหาสุขภาพที่มากกว่าเดิม เพื่อการดูแลอย่างถูกวิธีและเพื่อเตรียมรับมือกับการจัดอาหารให้อย่างเหมาะสมกับผู้สูงอายุแต่ละช่วงวัย เราจึงควรรู้เกี่ยวกับกับปัญหาสุขภาพของผู้สูงอายุในวัย 60 ปีขึ้นไปที่เป็นกันบ่อย เพื่อจะได้ดูแลท่านได้อย่างถูกต้อง ให้ท่านได้อยู่เป็นร่มโพธิ์ร่มไทรให้กับครอบครัวต่อไปอย่างมีความสุข

ผู้สูงอายุคือ คนที่มีอายุตั้งแต่ 60 ปีขึ้นไป ซึ่งนับวันก็จะยิ่งมีจำนวนเพิ่มมากขึ้น เป็นวัยที่มีการเปลี่ยนแปลงอย่างเห็นได้ชัด ทั้งทางร่างกายและจิตใจ โดยสภาพร่างกายจะเห็นได้ว่าเสื่อมลงตามอายุขัย โดยเฉพาะทางด้านระบบทางเดินอาหาร เนื่องจากฟันมีน้อยลง ทำให้เคี้ยวอาหารไม่ละเอียด ประสาทที่ควบคุมการกลืนก็ทำงานน้อยลง ส่งผลต่อระบบการย่อยและการขับถ่าย ส่วนสภาพจิตใจก็มีการเปลี่ยนแปลงง่าย ขี้หงุดหงิด มีความวิตกกังวล เนื่องจากมีเวลาว่างมากเกินไป อาจทำให้รู้สึกว่าถูกลดคุณค่าลง ความสัมพันธ์ภายในครอบครัวก็น้อยลง รู้สึกโดดเดี่ยวและเศร้าซึม

โรคที่มักพบบ่อยในผู้สูงอายุ มักมีปัจจัยจากพฤติกรรมการรับประทานอาหารและการใช้ชีวิตทั้งสิ้น ได้แก่ โรคอ้วน โรคเบาหวาน โรคความดันโลหิตสูง โรคหัวใจขาดเลือด โรคข้อเสื่อม เป็นต้น โดยคนทั่วไปจะเริ่มเห็นว่าอ้วนเมื่ออายุประมาณ 35-40 ปี ถ้าดูแลเรื่องน้ำหนักตัวตั้งแต่ก่อนเข้าสู่วัยสูงอายุ ปัญหาของโรคต่างๆ ที่จะเกิดขึ้น ย่อมน้อยลงได้ และที่สำคัญไม่ควรมองข้ามคือ โรคขาดสารอาหาร ซึ่งเกิดจากความเสื่อมของระบบการย่อยและดูดซึมอาหาร รวมทั้งพฤติกรรมทางสังคมเปลี่ยนแปลงไป อาจทำให้เบื่ออาหารได้ ซึ่งอาจทำให้ขาดสารอาหารที่จำเป็นสำหรับร่างกายไป จนส่งผลต่อการเป็นโรคอื่นๆ อย่างโรคโลหิตจาง โรคกระดูกพรุน นอกจากนี้ยังมีโรคทางประสาทตา โรคสมองเสื่อม อาการนอนไม่หลับ เกิดขึ้นอยู่บ่อยๆ ด้วย

ดูแลท่านตั้งแต่วันนี้

เมื่อโรคที่เจอส่วนใหญ่เป็นโรคที่เกี่ยวกับการรับประทานอาหารตั้งแต่วัยหนุ่มสาว ดังนั้น การดูแลเรื่องโภชนาการอาหารจึงเป็นสิ่งสำคัญในการดูแลผู้สูงอายุ โดยต้องให้ท่านได้รับสารอาหารที่ครบถ้วนและพอดีต่อความต้องการของร่างกาย ซึ่งวัยนี้ร่างกายมีการใช้พลังงานน้อยลง จึงควรลดอาหารประเภทแป้ง น้ำตาล และไขมัน ให้เน้นอาหารโปรตีนจากเนื้อสัตว์ไขมันต่ำที่ยอยง่าย โดยเฉพาะปลา หรือเนื้อไก่ส่วนอก หรือสันใน และเพิ่มแร่ธาตุที่ผู้สูงอายุมักขาด ได้แก่ แคลเซียม สังกะสี และเหล็ก ซึ่งมีอยู่ในนม เต้าหู้ ผัก ผลไม้ ธัญพืชต่างๆ เลือกเป็นซีเรียลโฮลเกรน ทำจากธัญพืชเต็มเมล็ด ผสมกับนมไขมันต่ำทิ้งไว้ซักครู่ เพื่อให้เนื้อสัมผัสนิ่มลงให้ท่านทานช่วงเช้า จะเป็นประโยชน์อย่างมาก เนื่องจากย่อยง่าย สารอาหารครบ และมีใยอาหารที่เป็นประโยชน์ต่อผู้สูงอายุในเรื่องระบบขับถ่าย หากผู้สูงอายุมีปัญหาเรื่องการรับประทานอาหารได้น้อย อาจจะต้องทดแทนมื้ออาหารปกติ ด้วยอาหารสูตรครบถ้วนที่มีสารอาหารเพียงพอและเหมาะสมเพื่อป้องกันการขาดแคลนสารอาหาร โดยเลือกอาหารสูตรครบถ้วนที่มีใยอาหารมาก หรือเลือกชนิดที่ไม่มีน้ำตาล หากผู้สูงอายุมีภาวะน้ำตาลนเลือดสูง หรือเป็นเบาหวาน ที่สำคัญควรเน้นปรุงประกอบอาหารด้วยวิธีต้ม นึ่ง ยำ ย่าง อบ แทนพวกการทอด หรือการผัด ก็จะช่วยลดปริมาณไขมัน และแคลอรีที่จะได้รับได้ นอกจากนี้ควรหลีกเลี่ยงอาหารที่มีรสจัด และดื่มน้ำสะอาดอย่างน้อย 8 แก้วต่อวัน ส่วนคนที่มีน้ำหนักเกินอยู่แล้ว ควรลดน้ำหนักให้ลงมาตามมาตรฐาน เพื่อไม่ให้ต้องแบกรับน้ำหนักในวัยที่เพิ่มสูงขึ้นเรื่อยๆ

นอกจากนี้ยังควรออกกำลังกายอย่างสม่ำเสมอ อาจเป็นการเดินเร็ววันละ 15-30 นาที สัปดาห์ละ 3-4 ครั้ง พักผ่อนให้เพียงพอ อาจหากิจกรรมยามว่างทำเพิ่มเติม และควรไปตรวจร่างกายทุกปี สิ่งสำคัญคือ อย่าลืมดูแลจิตใจของท่านให้มีความแจ่มใสเบิกบาน ลูกหลานควรพาท่านไปพบปะสังสรรค์ญาติพี่น้อง หรือพาท่านไปเที่ยวในที่มีอากาศบริสุทธิ์ เพื่อคลายเครียดจากความจำเจ เท่านี้ก็ทำให้ท่านมีทั้งสุขภาพกายและใจที่แข็งแรง และอยู่ร่วมกับทุกคนในครอบครัวได้อย่างมีความสุข